การลักลอบแฮ็กข้อมูลลูกค้า นับเป็นภัยด้านไซเบอร์ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่รัฐมนตรี คลัง ก็เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะที่สถาบันการเงินไทยได้ตื่นตัวและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกภายหลังการเปิดงานสัมมนาวิชาการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ว่า กรณีที่ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB และธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ถูกแฮ็กข้อมูลของลูกค้า เพื่อนำไปขายต่อนั้น ต้องยอมรับว่า เรื่องการแฮ็กข้อมูลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า ผู้ดูแล หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการตรวจตราทำหน้าที่ได้ดี ดังนั้นจึงพบความผิดปกติได้เร็ว แต่หลังจากนี้ไป สถาบันการเงินจะต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลง และจะต้องรับผิดชอบหากมีผลกระทบหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงไม่น่ามีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน
ด้านนายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยร่วมกับศูนย์ประสานงาน ความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศภาค การธนาคาร หรือTB-CERT(Thailand Banking Sector Computer Emergency Response Team) ทำหนังสือถึง สถาบันการเงินทุกแห่งแล้ว ให้มีการตรวจสอบข้อมูลลูกค้าของแต่ละธนาคารว่าพบข้อมูลของลูกค้าธนาคารรั่วไหลด้วยหรือไม่
นอกจากนี้ ทาง TB-CERT ยังให้ธนาคาร ต่างๆ เข้าไปตรวจสอบระบบการป้องกันภัยด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ภายในของแต่ละธนาคารด้วยว่าปัจจุบันรัดกุม และป้องกันภัยอย่างแน่นหนาหรือไม่ซึ่ง ภายในวันที่ 3ส.ค.นี้ ทางTB-CERT และสมาคมธนาคารไทยจะประชุมร่วมกัน เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และหาแนวทางการป้องกันภัยไซเบอร์ของระบบธนาคารที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม จากการหารือกันในช่วงที่ผ่านมากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อว่า อาจต้อง มีแนวทางใหม่ เพื่อดูแลด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงอาจต้องมีการขอความร่วมมือจากต่างชาติ เช่นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านภัยไซเบอร์รอบด้านของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ให้เข้ามาช่วยและทำงานร่วมกัน
ขณะที่นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการ ผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เรื่องสำคัญที่สุดในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินและบริการไปสู่ดิจิทัล ต้องไปคู่กับความปลอดภัยของประชาชน และลูกค้าด้วย โดยแต่ละปีที่ใช้งบประมาณลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี ในจำนวนนั้นคืองบประมาณเพื่อใช้ในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภัยไซเบอร์ (Cyber Risk) บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม
นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ธนาคาร มั่นใจระบบไอที ซึ่งมีทีมงานที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว อีกทั้งยังมีพันธมิตรต่างประเทศ คือ โนวาสโกเทียที่มีระบบความปลอดภัยระดับโลกก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล ซึ่งธนาคารก็ใช้ทั้งระบบของไทยและต่างประเทศควบคู่กันไป
อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปธนาคาร ก็จะเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลเพิ่ม มากขึ้น และหากมีส่วนไหนที่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นทุกธนาคารก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ลงทุน
ข่าวเด่น