อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 1.46%YOY เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก1.38%YOY ในเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 7 เดือนแรกของปี2018 อยู่ที่ 1.04%YOY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงไปที่ 0.79%YOYจาก 0.83%YOY ในเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.70%YOY
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงเป็นหลัก แต่ดัชนีราคาอาหารสดยังหดตัว โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 74.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 52.9%YOY ส่งผลให้ดัชนีราคาหมวดพลังงานขยายตัวสูงที่ 10.2%YOYอย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาหมวดอาหารสดยังคงหดตัวลง 1.6%YOY จากราคาผักและผลไม้สดที่ลดลง 4.9%YOY ราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำที่ลดลง1.9%YOY รวมถึงไข่และผลิตภัณฑ์นมที่ลดลง 0.6%YOYเป็นสำคัญ
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงเล็กน้อย แต่ยังคงได้รับผลกระทบทางอ้อมจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ที่เพิ่มขึ้น 4.4%YOY จาก 4.1%YOY ในเดือนก่อน ขณะที่ราคาหมวดอื่นๆ ก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน เช่น ราคาหมวดอาหารสำเร็จรูป ราคาหมวดไฟฟ้า น้ำประปาและแสงสว่าง เป็นต้น
อีไอซีมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2018 จะอยู่ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่1.3%YOY ลดแรงกดดันต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ โดยถึงแม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่ผ่านมาจะมีการเร่งตัวขึ้นตามแรงหนุนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น แต่ในระยะต่อไปราคาน้ำมันมีแนวโน้มชะลอตัวลง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยฉุดสำคัญของเงินเฟ้อปีนี้คือราคาอาหารสด โดยดัชนีราคาอาหารสดในช่วง7 เดือนแรกของปีหดตัวราว 0.8%YOY และในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มถูกกดดันจากปริมาณผลผลิตที่ยังสามารถออกสู่ตลาดได้มากตามสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวย ด้วยเหตุนี้ อีไอซีจึงมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีจะมีแนวโน้มชะลอลงกลับมาอยู่ใกล้กรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 1.0% สะท้อนถึงแรงกดดันต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง โดยอีไอซีมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงไว้ที่ 1.5% ตลอดปี 2018
อีไอซีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งปี 2018 จะอยู่ที่ 0.7%YOY โดยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานในช่วงที่เหลือของปีจะเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงส่งจากการบริโภคภายในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องตามรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ทยอยฟื้นตัว ขณะที่ราคาต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นบางส่วนจะยังส่งผ่านไปสู่ต้นทุนราคาสินค้าและบริการในประเทศ แม้จะน้อยกว่าในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ชะลอตัวลง
ข่าวเด่น