การสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ครั้งที่ 4/2561
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมไอยรา เลค โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดอุทัยธานี โดยได้รับเกียรติจากนางศศกร ลออศรีสกุลไชย คลังจังหวัดอุทัยธานี กล่าวต้อนรับ และได้กล่าวถึงศักยภาพของจังหวัดอุทัยธานี โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ ยอดเขาสะแกกรัง วัดจันทาราม (วัดท่าซุง) เป็นต้น และนายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวเปิดการสัมมนา
การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดใกล้เคียงเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการและนโยบายของกระทรวงการคลัง โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สถาบันการศึกษา และประชาชนผู้สนใจจากจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท และสุพรรณบุรี รวมทั้งสิ้น 236 คน การสัมมนาประกอบด้วย 3 หัวข้อ ดังนี้
1. การสัมมนาภายใต้หัวข้อ “โอกาสและการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาค” โดยมีนางชลอ โนรี ประธานหอการค้าจังหวัดอุทัยธานี นายสราวุธ สงวนเผ่า ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุทัยธานี นายภฤศ พุทธนบ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุทัยธานี และทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์ ผู้แทนสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดอุทัยธานี ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีนายนรพัชร์ อัศววัลลภ ผู้อำนวยการส่วนวิเทศและสถาบันสัมพันธ์ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. เป็นผู้ดำเนินรายการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.1 เศรษฐกิจของจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี และนครสวรรค์ ส่วนใหญ่พึ่งพาภาคเกษตรกรรม ซึ่งในปัจจุบันประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อีกทั้งต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานในตลาดโลก ส่งผลให้การลงทุนภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลง ภาครัฐจึงควรลดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคทางการค้าการลงทุน โดยเฉพาะการอนุมัติสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) เพื่อสนับสนุนการลงทุนภายในจังหวัดอุทัยธานีและชะลอการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคบริการได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากจังหวัดอุทัยธานีมีพื้นที่เพาะปลูกสูงถึงกว่า 500,000 ไร่ นอกจากนี้ ภาคเอกชนได้ขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินภาครัฐให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่จังหวัดรองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย
1.2 ด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดอุทัยธานีซึ่งอยู่ในภาคเหนือตอนล่างที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเที่ยวค่อนข้างสูง และมีโอกาสที่จะขยายตัวในอนาคตตามแนวโน้มการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่นิยมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวิถีชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยบรรยากาศการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่องจากปี 2560 เนื่องจากมีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวที่เป็นการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ ประกอบกับการได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล จึงเป็นแรงผลักดันในการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนภายในจังหวัดอุทัยธานีให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงมีแนวทางในการส่งเสริมการตลาดในต่างประเทศ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้มาท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้น
1.3 ด้านความท้าทายทางเศรษฐกิจของจังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานียังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น ความตื่นตัวในการพัฒนาเทคโนโลยี 4.0 ประชากรวัยแรงงานของจังหวัดมีแนวโน้มลดลง กฎหมายเกี่ยวกับการวางผังเมืองเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และข้อจำกัดด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น
โดยสรุป โครงสร้างเศรษฐกิจของทั้ง 4 จังหวัดข้างต้น มีลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพิงภาคเกษตรกรรมสูง ซึ่งปัจจุบันแม้จะประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรผันผวนส่งผลกระทบต่อรายได้และการใช้จ่ายภายในจังหวัด แต่ภาครัฐก็มีนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพภาคเกษตรกรรมและให้ความช่วยเหลือเกษตรกร อีกทั้งบรรยากาศการค้า การลงทุน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยวยังเอื้ออำนวยทั้งจากจุดเด่นในเชิงภูมิศาสตร์และศักยภาพด้านการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ ประกอบกับ การสนับสนุนจากมาตรการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อีกมาก
2. การบรรยายภายใต้หัวข้อ “คุณออม รัฐช่วยออม คุณได้บำนาญกับ กอช.” ได้รับเกียรติจากนางจิราพร บุญวานิช อนุกรรมการประชาสัมพันธ์และการตลาด กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้กล่าวแนะนำ กอช. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระ และไม่อยู่ในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เช่น เกษตรกร ค้าขาย รับจ้างทั่วไป แม่บ้าน ลูกจ้างรายวัน นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น ได้ออมเงินและมีโอกาสได้รับบำนาญหลังอายุ 60 ปี เพื่อให้มีรายได้สำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณอายุเริ่มต้นที่ 600 บาทต่อเดือน ผู้สนใจที่สามารถสมัครเป็นสมาชิก กอช. ต้องมีอายุ 15 – 60 ปี สะสมเงินขั้นต่ำได้ตั้งแต่ 50 บาทต่อเดือน รวมกันสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี และไม่จำเป็นต้องสะสมทุกเดือน โดยสมาชิกจะได้รับเงินสมทบเป็นอัตราส่วนของเงินสะสมของสมาชิกตามช่วงอายุ และรัฐบาลประกันผลตอบแทนกรณีสมาชิกอายุ 60 ปี ให้ได้รับอัตราผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งที่กำหนด นอกจากนี้ เงินสะสมที่สมาชิกส่งเข้า กอช. สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิก กอช. ได้ที่สำนักงานคลังจังหวัด และธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
3. การบรรยายภายใต้หัวข้อ “รู้ลึก รู้จริง การเงินภาคประชาชน” โดยนางสาวกฤติกา โพธิ์ไทรย์ นายชยเดช โพธิคามบำรุง และนายทิวนาถ ดำรงยุทธ จากสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สศค. ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเงินระดับฐานราก (Microfinance) โครงสร้างสินเชื่อระดับฐานรากของไทยซึ่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีบทบาทสำคัญในการปล่อยสินเชื่อคิดเป็นร้อยละ 54 ของสินเชื่อระดับฐานรากทั้งหมด และนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับการเงินฐานรากที่สำคัญ ได้แก่ การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560 – 2564 การดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน และการจัดทำร่างพระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. .... ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับองค์กรการเงินฐานรากให้มีสถานะนิติบุคคลโดยมีกฎหมายรองรับ แก้ปัญหาด้านการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนในชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรการเงินระดับฐานราก นอกจากนี้ ยังได้ให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาถึงเรื่องการวางแผนทางการเงิน ความรู้เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ธุรกิจการเงินนอกระบบที่เป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และนโยบายของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เช่น พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2560) และการใช้บริการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์)
ข่าวเด่น