กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พร้อมเดินสายทั่วประเทศ รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเรื่อง CPTPP โดยเฉพาะประเด็นที่ยังมีข้อกังวล เพื่อความรอบคอบ ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ เริ่มต้นประเดิมจัดสัมมนารับฟังความเห็นครั้งแรกในภาคตะวันออก ที่จังหวัดชลบุรี และเตรียมจัดต่อเนื่องทั่วทุกภูมิภาค ก่อนรวบรวมข้อมูลเสนอรัฐบาลประกอบการตัดสินใจ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กำหนดจัดสัมมนาเรื่อง “โอกาส และความท้าทายของไทยภายใต้ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and progressive agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP)” โดยจะมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมในการเสวนา เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องผลประโยชน์ ผลกระทบ ข้อกังวล ตลอดจนแนวทางการเยียวยาหากไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยจะเริ่มจัดครั้งแรกในวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี และในเดือนกันยายน 2561 กำหนดจัดอีก 4 ครั้ง ที่เชียงใหม่ สงขลา กรุงเทพฯ และขอนแก่น
นางอรมน กล่าวว่า การสัมมนาดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ในช่วงเช้าจะเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นในหัวข้อ “ตระหนักรู้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)” ครอบคลุมภาพรวม และสาระสำคัญของความตกลง CPTPP ตลอดจนประเด็นการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน และในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP” จะเจาะลึกรายประเด็น อาทิ เกษตร การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เพื่อเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความเห็นสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นต่อความตกลง CPTPP ในประเด็นต่างๆ
นางอรมน กล่าวเสริมว่า คาดว่าความตกลง CPTPP จะมีผลใช้บังคับในช่วงต้นปี 2562 ในระหว่างนี้ไทยจึงมีเวลาที่จะศึกษาผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน โดยกรมฯ พร้อมเปิดกว้างสำหรับทุกภาคส่วนในการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และจะนำผลการรับฟังความเห็น ตลอดจนผลการวิเคราะห์ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผลการศึกษาที่กรมฯ ให้สถาบันวิจัยที่เป็นหน่วยงานภายนอกช่วยดำเนินการ มารวบรวมเป็นข้อมูลเสนอรัฐบาลประกอบการตัดสินใจในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ต่อไป
ทั้งนี้ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมา สมาชิก CPTPP ได้ลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ณ เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี ปัจจุบัน สมาชิกอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลงฯ คาดว่า CPTPP จะมีผลใช้บังคับต้นปี 2562
ข่าวเด่น