คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดตัว “ฟิล์ม ทู ฟลาย” นวัตกรรมชะลอความสุกพืชผลเกษตรจากใบยี่หร่า ประเดิมชะลอสุก “กล้วยหอม” นาน 2 เดือน ด้วยเทคนิคการเคลือบแบบบริโภคได้ โดยไม่ทิ้งสารเคมีตกค้าง พร้อมรักษาสภาพผิวให้สวยงาม และป้องกันการเกิดโรคขั้วหวีเน่าในผลผลิตได้ถึง 95เปอร์เซ็นต์ ภายหลังการเก็บเกี่ยวและระหว่างการขนส่ง เพียงชุบในสาร 1 ครั้ง อีกทั้งยังสามารถชะลอสุกในมะละกอ และมะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออก พร้อมกันนี้ คณะฯ ยังมี “สารยืดอายุผลไม้จากกากรำข้าว” นวัตกรรมยืดอายุผลไม้สดจากกากรำข้าวได้นานมากกว่า 14 วัน พร้อมคงสภาพผลไม้ได้เป็นอย่างดี เพียงทาเคลือบ 1 ครั้ง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดปัญหาการเน่าเสียของผลผลิต ก่อนวางจำหน่ายตลาดต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบธรรมชาติที่มีต้นทุนต่ำ รวมถึงวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ถูกละเลยจำนวนมาก
รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า ปัญหาการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเน่าเสีย ก่อนวางจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ ยังคงเป็นปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการประสบและต้องสูญเสียโอกาสและรายได้จำนวนมาก ด้วยข้อจำกัดของผลผลิตบางชนิดที่มีอายุหลังการเก็บเกี่ยวสั้น และเกิดโรคพืชขณะทำการขนส่ง ทั้งโรคที่เกิดจากเชื้อราและ/หรือแบคทีเรีย เช่น ขั้วหวีเน่า ฯลฯ นักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. จึงผุดไอเดียพัฒนาวัสดุที่ทำหน้าที่ยืดอายุผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวให้นานขึ้น โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการถนอมอาหาร ผนวกรวมกับวัตถุดิบธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศและมีต้นทุนต่ำ อย่าง “ใบยี่หร่า” สมุนไพรพื้นถิ่นของไทยที่มีสรรพคุณทางยาหลากชนิด และ “กากรำข้าวหอมมะลิ 105” วัตถุดิบเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำมันรำข้าว สู่ 2 นวัตกรรมสุดสร้างสรรค์ คือ “ฟิล์ม ทู ฟลาย” และ “สารเคลือบจากกากรำข้าวเพื่อยืดอายุผลไม้สด”
ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีการเกษตร และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า ฟิล์ม ทู ฟลาย (Film to fly) นวัตกรรมยืดอายุผลกล้วยหอมด้วยวัตถุดิบธรรมชาตินาน 2 เดือน ด้วยเทคนิคการเคลือบแบบบริโภคได้ (Edible Coating) โดยที่ไม่ทิ้งสารเคมีตกค้าง อีกทั้งยังสามารถป้องกันโรคขั้วหวีเน่าในผลผลิตได้ถึง 95 เปอร์เซนต์ ภายหลังการเก็บเกี่ยวและระหว่างการขนส่งทางเรือ เพียงนำกล้วยไปชุบในสารเคลือบ 1 ครั้ง ทั้งนี้ โรคขั้วหวีเน่า ถือเป็นหนึ่งในโรคพืชที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกล้วยหอมไทยเป็นอย่างมาก โดยในช่วงครึ่งปีแรก ปี 2561 ที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกกล้วยหอมถึง 3.87 ล้านตัน (ที่มา: กรมศุลกากร, 2561) ขณะเดียวกันพบผลผลิตเสียหายก่อนวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก
ผศ.ดร.ดุสิต กล่าวต่อว่า สำหรับนวัตกรรมดังกล่าว เกิดจากการทำงานร่วมกันของ 2 ส่วนสำคัญ คือ “สารสกัดจากใบยี่หร่า” สารสำคัญจากธรรมชาติที่ได้จากกระบวนการสกัดขั้นสูง ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดโรคขั้วหวีเน่า และ “เซลลูโลสจากผักตบชวา” ทำหน้าที่เสมือนฟิล์มกักเก็บสารสำคัญจากใบยี่หร่าไม่ให้สลายตัวเร็ว จากนั้นทำการละลายให้เป็นของเหลว เพื่อใช้เคลือบผลกล้วยขณะที่เปลือกยังมีสีเขียวสด (ดิบ) 1 ครั้ง และทิ้งให้แห้งประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งสารดังกล่าว จะทำหน้าที่เสมือนฟิล์มเคลือบผลกล้วยอีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้แก๊สเอทิลีน (Ethylene) ออกมากระตุ้นให้กล้วยผลอื่นสุกตาม พร้อมชะลอการสุกของผลกล้วยได้นานถึง 2 เดือน ช่วยรักษาสภาพผิวให้สวยงาม น่ารับประทาน และป้องกันการเกิดโรคขั้วหวีเน่าได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผลไม้ส่งออกสำคัญของไทยได้หลากหลายชนิด ทั้งมะละกอ และมะม่วงน้ำดอกไม้
อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าว ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาประมาณ 2 ปี มีต้นทุนโดยเฉลี่ยประมาณ 100 - 150 บาทต่อสารครึ่งกิโลกรัม โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเอกชนในการสนับสนุนเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการพัฒนางานวิจัย ทั้งนี้ ผลงานวิจัยดังกล่าว อยู่ระหว่างการยื่นจดอนุสิทธิบัตร โดยที่ล่าสุด สามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง ประเภทสิ่งประดิษฐ์ การันตีคุณภาพจากเวทีประกวดงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก ครั้งที่ 46 (46th International Exhibition of Inventions of Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ผศ.ดร.ดุสิต กล่าว
ด้าน นางสาวพรรณวดี จันทร์ทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า อีกหนึ่งนวัตกรรมที่สามารถยืดอายุผลไม้ได้ คือ “สารยืดอายุผลไม้จากกากรำข้าว” นวัตกรรมยืดอายุผลไม้สดจากกากรำข้าวมากกว่า 14 วัน พร้อมรักษาคงสภาพของผลไม้ได้เป็นอย่างดี สามารถนำไปใช้ในรูปแบบการทา ชุบ หรือสเปรย์ 1 ครั้ง และทิ้งให้แห้ง 1 ชั่วโมง โดยไม่ทิ้งสารตกค้างในผลผลิต เพื่อเป็นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกากรำข้าว ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำมันรำข้าวถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเซลลูโลสในกากรำข้าว จะมีคุณสมบัติสำคัญคือ สามารถกีดขวางก๊าซระดับต่ำและมีความแข็งแรงเชิงกลสูง โดยทำหน้าที่เป็นสารเคลือบผิวช่วยลดอัตราการหายใจ และคงสภาพของผลไม้ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ปริมาณสาร 100 มิลลิลิตร สามารถใช้ทาผลไม้ อย่าง ผลกล้วยหอม (ดิบ) ได้ถึง 25 - 30 ลูก ขณะเดียวกัน ยังสามารถนำไปใช้ยืดอายุผลไม้ชนิดอื่นๆ ได้ อาทิ มังคุด มะม่วง และมะละกอ
อย่างไรก็ดี สารยืดอายุผลไม้จากกากรำข้าว ใช้ระยะเวลาในการพัฒนามากกว่า 1 ปี โดยเป็นงานวิจัยร่วมกับนางสารธมนวรรณ อังกุรทิพากร นักศึกษาร่วมสาขา โดยมี รศ.ดร.จิรดา สิงขรรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว อยู่ระหว่างการยื่นจดอนุสิทธิบัตร และเตรียมวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในราคาประมาณ 35 บาทต่อ 100มิลลิลิตร ซึ่งล่าสุดสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ประเภทผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีงานวิจัยรองรับ นวัตกรรมจากข้าวที่ไม่ใช่อาหาร การันตีคุณภาพ จากเวทีประกวดสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าสินค้าข้าวส่งออกเชิงพาณิชย์ “RICE PLUS AWARD 2018 : ข้าว...ก้าวใหม่” จัดโดยกรมการค้าต่างประเทศ นางสาวพรรณวดี กล่าว
สำหรับผู้สนใจนวัตกรรมดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามหรือขอรับคำปรึกษาได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร โทร. 02-564-4491, 02-564-4495 สาขาวิชาเคมี โทร. 02-564-4440 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โทร. 02-564-4491 ต่อ 2020 เฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th
ข่าวเด่น