ผู้ส่งออกข้าวปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกปีนี้เป็น 11 ล้านตัน หลังคู่แข่งเผชิญปัญหาภัยธรรมชาติ
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯได้ปรับคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกข้าวปี 2561 จากเดิม 9.5-10 ล้านตัน เป็น 11 ล้านตัน หรือครึ่งปีหลังส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 9 แสนตัน หลังจาก 7 เดือนแรกปีนี้ ไทยส่งออกข้าวแล้ว 6.22 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 1.1 % โดยทั้งปีคาดมีมูลค่า 5,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.77 แสนล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ไทยยังเป็นประเทศส่งออกข้าวโลก อันดับ 2 รองจากอินเดีย ที่ส่งออกได้ 12 ล้านตัน นับตั้งแต่ปี 2558 หรือ 4 ปีต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มปี 2562 คาดว่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน เพราะไทยน่าจะได้ผลกระทบจากภัยธรรมชาติไม่มาก
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปัจจัยหนุนส่งออกข้าวไทย คือ 1. ประเทศผู้นำเข้าข้าวยังมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยผลผลิตและสต็อกในประเทศลดลง เช่น อินโดนีเซีย คาดนำเข้าอีก 1-2 ล้านตัน ฟิลิปปินส์คาดนำเข้าอีก 5 แสนตัน รวมถึงมาเลเซีย ประเทศในกลุ่มแอฟริกา และจีน ที่มีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง 2.ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง จากแข็งค่า 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็น 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาข้าวไทยเริ่มลดลงจนแข่งขันได้มากขึ้นกับประเทศผู้ส่งออกคู่แข่งหลัก คือ เวียดนาม และ อินเดีย 3.สต็อกข้าวรัฐของไทยลดลงมาก ทำให้ประเทศผู้นำเข้าตื่นตัวเพิ่มนำเข้าไว้เป็นสต็อกมากขึ้น และ 4. พยากรณ์ว่าปรากฎการณ์เอลนิโญ่ในเอเชียกำลังกลับมาอีกครั้ง อากาศร้อนและภัยแล้งจะกระทบต่อผลผลิตข้าวและพืชต่างๆ จะช่วยดึงราคาข้าวในตลาดสูงขึ้น
ส่วนปัจจัยลบ คือ ผลผลิตข้าวหอมมะลิของฤดูการผลิตใหม่ที่ออกสู่ตลาดปลายเดือนตุลาคมนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง หลังจากปีนี้ผลผลิตหายไป 40% อาจทำให้ราคาข้าวหอมมะลิทรงตัวสูงจนผู้นำเข้าหันไปซื้อข้าวหอมประเทศอื่นแทน ข้อกำจัดในเรื่องโลจิสติกส์และสภาพอากาศยังเป็นอุปสรรคต่อการขนย้ายสินค้าและส่งมอบ อีกทั้งประเทศนำเข้าเพิ่มนโยบายนำเข้าที่เข้มงวดขึ้น เช่น มาเลเซีย เปิดเสรีให้มีบริษัทนำเข้ามากขึ้น จีนเพิ่มภาษีนำเข้าข้าวจากอาเซียนเป็น 50% จาก 5% ฟิลิปปินส์เปิดประมูลแบบทั่วไปมากขึ้นแทนการเจรจาแบบจีทูจี เป็นต้น รวมถึง ค่าเงินบาทแม้อ่อนค่าลงแต่อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ดูแลไม่ให้มีความผันผวน เหมือนเวียดนามดูแลค่าเงินดอง และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องดูแลการใช้สารเคมีของชาวนาด้วย
ส่วนน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย ยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณข้าวและราคาข้าวในขณะนี้ เพราะพื้นที่น้ำท่วมไม่ใช่แหล่งปลูกข้าวหลัก แต่ต้องติดตามปัญหาฝนแล้งและภัยแล้งในหลายจังหวัดที่เป็นแหล่งปลูก โดยเฉพาะภาคอีสาน หากฝนตกน้อย อาจมีผลต่อข้าวหอมมะลิรอบใหม่ ขณะที่เริ่มเห็นชาวนาเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก เพราะเห็นว่าราคาข้าวหอมมะลิปีนี้สูง ก็จะทำให้ผลผลิตรวมเพิ่มกว่าปีนี้ และเชื่อว่าผู้ส่งออกมีการบริหารจัดการดีขึ้น ทำให้ราคาข้าวหอมมะลิอาจไม่สูงถึง 1,200 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ข่าวเด่น