เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทำให้หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เตรียมรับมือและหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ประสบภัย
โดยนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจความเสียหายของโรงงานต่างๆ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก เพื่อจะเข้าไปช่วยเหลือทันที รวมถึงเตือนโรงงานที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปิโตรเคมีเคมีภัณฑ์ และโรงงานที่มีเครื่องจักร ให้เตรียมพร้อมรับมือกับน้ำท่วม ส่วนแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ คงต้องรอดูประเมินความเสียหายก่อน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมแนวทางช่วยเหลือไว้อยู่แล้ว เป็นมาตรการเดิมที่เคยมีอยู่
ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในประเทศอย่างใกล้ชิด โดย ส.อ.ท.ได้ให้ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 45 กลุ่มติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะข้อมูลจากภาครัฐ เช่น ปริมาณน้ำในเขื่อนแต่ละพื้นที่ โดยสิ่งที่น่ากังวล คือ ภาคเกษตร บ้านเรือนประชาชน และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี ที่อยู่นอกพื้นที่อุตสาหกรรม เนื่องจากไม่มีมาตรการรับมือเหมือนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรม
ซึ่งแม้ขณะนี้ยังไม่เสียหายมากนัก จึงไม่กระทบกับเศรษฐกิจ แต่ต้องติดตาม โดยประเมินว่า สถานการณ์น่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงเท่ากับมหาอุทกภัยเมื่อปี 54 เนื่องจากปริมาตรน้ำในเขื่อนที่สูงนั้น อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แตกต่างจากปี 54 ที่ผลกระทบเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของหลายนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลัก รวมถึงการคาดการณ์จำนวนพายุที่จะเข้ามาในช่วงฤดูฝนที่เหลือของปีนี้จะไม่มากเท่ากับในช่วงเดียวกันของปี 54
ขณะที่ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมบังคับคดีจัดโครงการไกล่เกลี่ยหนี้ชั้นบังคับคดีให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และแบ่งเบาภาระให้กับลูกหนี้ ที่อาจประสบปัญหาขาดรายได้ หรือมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเพื่อยังชีพ หรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย จนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด โดยลูกหนี้สามารถติดต่อเพื่อขอไกล่เกลี่ยหนี้ชั้นบังคับคดีได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ตามช่องทางที่สะดวก เช่น ติดต่อได้ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี /สายด่วนกรมบังคับคดี หมายเลข 1111 กด 79 หรือติดต่อด้วยตัวเองที่สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ
โดยเงื่อนไขในการช่วยเหลือ ต้องเป็นลูกหนี้ที่เดือดร้อนจริงและมั่นใจว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ และอยู่ในจังหวัดที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมเท่านั้น เบื้องต้นจังหวัดสกลนคร นครพนม เพชรบุรี กาญจนบุรี ซึ่งคาดว่าจะมีลูกหนี้ที่เข้าข่ายต้องให้ความช่วยเหลือหลักหมื่นราย
cr.bcc.com
สำหรับกระบวนการช่วยเหลือนั้น กรมบังคับคดีจะเป็นตัวกลางนัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เพื่อผ่อนผันการชำระหนี้ออกไปตามความเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากเจ้าหนี้และสถาบันเจ้าการเงินเจ้าหนี้เป็นอย่างดี โดยในปี 2560 ซึ่งมีพื้นที่ประสบภัยหนักในจังหวัดสกลนคร สงขลาสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ 451 ราย ทุนทรัพย์ 190 ล้านบาทหรือสำเร็จร้อยละ 87.40 และต้นปี 2561 ไกล่เกลี่ยหนี้ ที่จังหวัดปัตตานีและสุราษฎร์ธานี สำเร็จ รวม 433 ราย ทุนทรัพย์ 87 ล้านบาท หรือสำเร็จร้อยละ 88.37
ข่าวเด่น