ค่าาเงินลีราของตุรกีปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง แต่แวดวงสถาบันการเงินไทยก็มั่นใจว่าผลกระทบต่อตลาดเงินของไทยมีไม่มาก
โดยนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด จากเหตุการณ์ในประเทศตุรกี แต่ความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และการเงินของไทยกับประเทศตุรกียังไม่สูงมาก ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจึงอยู่ในวงจำกัด โดย ธปท. จะติดตามผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ และช่องทางการส่งผ่านต่างๆ เพื่อประกอบการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ขณะที่ ดร. อมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า วิกฤตตุรกี จะไม่ลามเป็นวิกฤตตลาดเกิดใหม่ แต่ในระยะสั้น นักลงทุนช่วงที่นักลงทุนตกใจกับปัญหาต่างๆ ทำให้มักขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย และนำเงินไหลกลับไปยังสหรัฐ ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ย่อลง ค่าเงินบาทและสกุลอื่นๆอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัญหาตุรกีไม่ใช่เรื่องใหม่ ถือเป็นปัญหาที่สะสมมานานแล้วและปะทุขึ้นเพราะความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐและสงครามการค้า
โดยค่าเงินลีราของตุรกีอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐอย่างรุนแรง เป็นผลจากความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐและสงครามการค้า ทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ในประเทศเกิดตลาดใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวค่อนข้างน้อย เนื่องจากไทยเกินดุลการค้ากับตุรกี และสัดส่วนการส่งออกไปตุรกีเพียง 0.5%ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผัก ผลไม้ยางพารา พลาสติก ยานยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งที่ผ่านมาไทยและตุรกีกำลังเดินหน้าเจรจา FTA ด้วยดี โดยไทยหวังเชื่อมโยงตลาดตุรกีกับยุโรป
สำหรับด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายในประเทศไทย อาจได้รับแรงเทขายจากความกังวลของนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าเทียบค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อทุกอย่างมีความชัดเจนขึ้น ตลาดการเงินโลกกลับมามีเสถียรภาพ นักลงทุนต่างชาติจะแยกแยะระหว่างตลาดเกิดใหม่ที่มีปัญหากับตลาดที่มีเสถียรภาพ ขณะที่ประเทศไทย ซึ่งมีตัวเลขการเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงราว 10%ของจีดีพี และเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยที่สูง น่าจะเป็นส่วนดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้กลับมาได้ จึงคาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าในระยะสั้น โดยในช่วงไตรมาส 3 นี้จะเผชิญกับความผันผวน และจะกลับมาแข็งค่าช่วงไตรมาส 4 โดยคงมุมมองค่าเงินบาทที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นปีนี้
“ส่วนโอกาสการลุกลามของปัญหาเป็นไปได้สองทาง ได้แก่ ทางที่หนึ่ง คือลามไปยังภาคธนาคารพาณิชย์ของยุโรปที่ปล่อยกู้ให้ตุรกี ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจในยุโรปชะลอได้ แต่ตัวเลขหนี้ที่ปล่อยกู้ให้ตุรกีไม่น่าจะมาก อีกทั้งปัญหาในตุรกียังไม่ใช่ปัญหาเชิงโครงสร้างซับซ้อนที่ยังแก้ไขได้ และทางที่สอง คือลามไปยังตลาดเกิดใหม่ ซึ่งประเทศที่มีความเสี่ยงมากมักจะเป็นประเทศที่มีปัญหาขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับตุรกี เช่น ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง แต่ถึงจะกระทบ ก็ไม่น่าส่งผลให้เกิดวิกฤติแรง เพราะแต่ละประเทศยังมีความสามารถในการใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อประคองเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพได้” ดร.อมรเทพกล่าว
ดร.อมรเทพ ยังได้คาดการณ์ถึงทางออกของตุรกีไว้สองทาง เพื่อให้สามารถพ้นวิกฤต ว่า ทางเลือกแรก คือ IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) เมื่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเสียสมดุล ก็ต้องแก้จุดที่มีปัญหา เช่น รัดเข็มขัดงบประมาณรายจ่าย ขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพค่าเงิน หรือทางเลือกที่สอง คือCapital control (การควบคุมเงินทุน) เพื่อสกัดไม่ให้ค่าเงินอ่อนค่าไปกว่านี้ และรักษาเสถียรภาพราคาและตลาดเงิน อย่างไรก็ตามตุรกีน่าจะยุติปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐได้ เพราะเป็นพันธมิตรนาโต้ที่สำคัญของสหรัฐและยุโรป
ข่าวเด่น