กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับ รี้ด เทรดเด็กซ์ จัดงาน TILOG–LOGISTIX2018 ระหว่างวันที่ 29 – 31 สิงหาคม 2561 ณ ไบเทค กรุงเทพ เพื่อเป็นเวทีบูรณาการส่งเสริมการพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจการค้าโลจิสติกส์ไทยในการเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาคอาเซียน นำผู้แสดงสินค้าจำนวนกว่า 415 แบรนด์ จาก 25 ประเทศ จัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม โซลูชั่นและบริการด้านโลจิสติกส์ พร้อมกิจกรรมเพิ่มองค์ความรู้ และสัมมนาระดับนานาชาติ คาดผู้เข้าชมงานกว่า 11,000 ราย เป้ามูลค่าเจรจาธุรกิจจากการจัดงานกว่า600 ล้านบาท
นางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน TILOG–LOGISTIX 2018 ในวันพุธที่ 15สิงหาคม 2561 เวลา 13.00-14.15 น. ณ ห้องประชุมบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ และในโอกาสนี้ได้กล่าวว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ ทั้งยังสร้างรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี จ้างแรงงานกว่า 1 ล้านคน รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจ โลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพสูง โดยกำหนดไว้ชัดเจนทั้งในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2561 – 2564) และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (2560-2564) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน และบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด จัดงาน TILOG-LOGISTIX 2018
เป็นครั้งที่ 4 แต่นับเป็นปีที่ 15 สำหรับงาน TILOG เพื่อให้เป็นกิจกรรมรองรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งยกระดับประสิทธิภาพและมาตรฐานการให้บริการโลจิสติกส์ให้เทียบเคียงกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ
“ผลจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน ส่งผลให้อันดับดัชนีวัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (International Logistics Performance Index: LPI) ของธนาคารโลก ปี 2561 ไทยอยู่อันดับที่ 32 จาก 160 ประเทศทั่วโลก ดีขึ้นกว่าปี 2559 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 45”
นอกจากนี้ ในปีนี้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการโลจิสติกส์ด้านการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตโดยใช้กระบวนการโลจิสติกส์เข้ามาบริหารจัดการ อาทิ การเก็บรักษา/ยืดอายุสินค้า บรรจุภัณฑ์ การขนส่ง เพื่อรักษาคุณภาพจนถึงผู้ซื้อ ซึ่งจะสามารถขยายโอกาสและสร้างช่องทางการตลาดให้กับผลผลิตที่มีคุณภาพ ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าอีกด้วย งาน TILOG-LOGISTIX 2018 จึงไม่เพียงแต่ยกระดับงานแสดงสินค้าด้านโลจิสติกส์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดโอกาสในการพัฒนาต่อยอดไปสู่การเชื่อมโยงเครือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ทั้งไทยและในภูมิภาคอาเซียนเท่านั้นยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก แสดงถึงศักยภาพของโลจิสติกส์ไทยในการเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาค นางวรรณภรณ์ กล่าวเสริม
นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึง มุมมองต่อบทบาทธุรกิจโลจิสติกส์ว่า “ธุรกิจโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับการค้าระหว่างประเทศได้ ด้วยคุณภาพบริการที่ดี ต้นทุนที่เหมาะสมกับคุณภาพบริการ และการขยายเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมทั่วโลก นอกจากนี้ การขยายตัวของตลาด Cross Border e-Commerce ที่ต้องการบริการโลจิสติกส์สำหรับพัสดุขนาดเล็กที่ส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรงรวมถึงการจัดส่งแบบ door-to-door service ส่งผลให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต้องพัฒนาระบบภายในของตนเองให้เชื่อมโยงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานสากล และป้องกันอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ รวมถึงการจัดการข้อมูลที่รวดเร็วที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่ต้องพัฒนาให้ทันตลาด e-Commerce ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงจะสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างชาติ และเป็นแรงสนับสนุนให้ผู้ส่งออก/ผู้นำเข้าของไทย สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก”
นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) ได้ชี้ให้เห็นถึงทิศทางภาคธุรกิจโลจิสติกส์ไทยว่า “จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศไทยฉบับที่ 3 ต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การบริการ และการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยมีดัชนีชีวัดความสำเร็จของการพัฒนาที่สำคัญ 3 ด้าน คือ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index- LPI) โดย World Bank ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับที่ 32 จาก 160 ประเทศ และถือเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน และอันดับ 7 ในเอเชีย สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2564 เท่ากับ 12%
ซึ่งมีสัดส่วนลดลงตามรายงานของสภาพัฒน์ฯ และประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ดีขึ้นในปี 2564 จาก Trading Across (อันดับด้านการค้าระหว่างประเทศของธนาคารโลก) จากดัชนีชี้วัดดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าโลจิสติกส์ไทยมีทิศทางการเติบโตทีสูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงสู่การค้าในระดับภูมิภาค”
นายสุทธิศักดิ์ วิลานันท์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เปิดเผยถึงการจัดงาน “TILOG – LOGISTIX 2018” ว่า เป็นความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับงานให้เป็นเวทีที่แสดงการให้บริการและเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์การค้าที่ครบวงจรสำหรับคนในวงการโลจิสติกส์และวงการอุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องจากทั่วภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศCLMVโดยปีนี้ได้รวบรวมเทคโนโลยี โซลูชั่น และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ พิเศษในปีนี้กับบริการขนส่งข้ามแดน/โลจิสติกส์เพื่อสินค้าเกษตร/Cold Chain Logistics (โคลด์เชน)/โลจิสติกส์เพื่อ e-commerce สำหรับผู้นำเข้าและส่งออกที่กำลังมองหาบริการเพื่อขยายเส้นทางธุรกิจใหม่ โดยในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากคณะผู้แทนการค้าจากต่างประเทศเข้าร่วมงานและเจรจาธุรกิจกว่า 500 ราย อาทิ จากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย และกลุ่มประเทศ CLMV เป็นต้น”
“งาน TILOG-LOGISTIX 2018 ระหว่างวันที่ 29 – 31 สิงหาคม 2561 ณ ฮอลล์ 98 ไบเทค กรุงเทพ พร้อมจัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมครบครันด้านระบบโลจิสติกส์ การลำเลียง ระบบโกดัง โดยจะเลือกสรรเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เหมาะสมกับภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์โลจิสติกส์ยุคดิจิตอล ยุค 4.0 และ Internet of Thing ที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกอบการอาทิ ระบบการจัดเก็บสินค้าอัตโนมัติ (Automated racking System) รวดเร็วแม่นยำ ประหยัดพื้นที่ AGV Robot หุ่นยนต์ที่เข้าถึงพื้นที่ไร้ขีดจำกัด ระบบโซลูชันโลจิสติกส์แบบอินทิเกรตเพื่อการบริหารจัดการ Supply Chain เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ชั้นนำ อาทิ การขนส่งทั้งในและต่างประเทศ ผู้ให้บริการคลังสินค้า ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์เพื่อสินค้าเกษตร รวมทั้งด้าน Cold Chain Logistics ก็เตรียมพร้อมที่นำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายผ่านการเจรจาธุรกิจภายในงาน”
ภายในงานประกอบด้วยองค์ความรู้มากมายจากงานสัมมนาที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ อาทิ Trade Logistics Symposium 2018 นำเสนอองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์เพื่อสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่าย World Transport & Logistics Forum Thailand (WTLFT) เผยดัชนี Logistics Performance Index (LPI) และบทวิเคราะห์เพื่อการพัฒนาภาคโลจิสติกส์ โดยธนาคารโลก (World Bank)และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิตัลไปกับองค์ความรู้ด้าน e-commerce ต่อผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์และผู้ให้บริการโลจิสติกส์เพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศในอนาคต และประเด็นสัมมนาอื่นๆ กว่า 20 หัวข้อ รวมทั้งกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น พบต้นแบบนวัตกรรมการบริหารจัดการคลังสินค้าแห่งอนาคต (Virtual Reality Advanced Distribution Centre) ที่โซน “Innovation Showcase” เรียนรู้จากแนวคิดและกลยุทธ์ของผู้นำวงการโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนามาตรฐานธุรกิจสู่ระดับสากล ณ “ELMA Showcase” พบเคล็ดลับลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายและขนส่งสินค้าเกษตร โดยใช้ประโยชน์โลจิสติกส์จากธุรกิจต้นแบบ พร้อมรับคำแนะนำโดยตรงที่ “Agri Logistics Value Chain Pavilion” เทคโนโลยีระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์จากสตาร์ทอัพไทยที่ “Logistics Startup Pavilion” ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการโลจิสติกส์ ไม่ควรพลาดโอกาสสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจ รองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
ข่าวเด่น