คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ซ้อมความเข้าใจให้กับหน่วยงานของรัฐเตรียมความพร้อมในการก่อหนี้ผูกพันและเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายเงินได้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของรัฐบาล คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ จึงได้ซ้อมความเข้าใจและกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อเร่งรัดจัดการหาพัสดุก่อนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า หน่วยงานของรัฐสามารถเริ่มกระบวนการจัดหาพัสดุตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้ตั้งแต่ได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยหากเป็นวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีเริ่มเมื่ออนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รายหน่วยงานของรัฐเป็นที่สิ้นสุดแล้วก่อนเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ หากเป็นกรณีเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หน่วยงานของรัฐได้รับการอนุมัติแล้ว หากเป็นกรณีเงินงบประมาณเบิกแทนกัน หน่วยงานของรัฐเจ้าของงบประมาณได้รับอนุมัติเงินประจำงวดจากสำนักงบประมาณแล้ว และหน่วยงานผู้เบิกแทนได้ยื่นแบบใบแจ้งการเบิกเงินงบประมาณแทนกันต่อกรมบัญชีกลางหรือสำนักงานคลังจังหวัด แล้วแต่กรณี และตรวจสอบรายการว่าถูกต้องและมีเงินประจำงวดเพียงพอแล้ว หากเป็นกรณีเงินงบประมาณที่ต้องดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย หน่วยงานของรัฐได้รับอนุมัติให้โอนหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย หรือสำนักงบประมาณได้รับอนุมัติ แล้วแต่กรณี
หลังจากหน่วยงานของรัฐได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณแล้ว ให้จัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีทั้งปี และประกาศเผยแพร่ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลางและของหน่วยงานของรัฐ และปิดประกาศโดยเปิดเผย ณ สถานที่ปิดประกาศของหน่วยงานของรัฐนั้น ทั้งนี้ ให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้จนถึงขั้นตอนได้ตัวผู้ขายหรือผู้รับจ้างไว้ก่อน การลงนามจะทำได้ก็ต่อเมื่อ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ และได้รับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณแล้วเท่านั้น หากหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ สามารถยกเลิกการจัดหาได้ ในส่วนของการบันทึกข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างในระบบ e-GP หน่วยงานของรัฐสามารถบันทึกได้ทันที โดยยังไม่ต้องระบุรหัสงบประมาณและรหัสแหล่งของเงิน เพียงแต่ต้องบันทึกข้อมูลดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อนลงนามในสัญญา
การซ้อมความเข้าใจแนวทางดังกล่าว เพื่อต้องการให้หน่วยงานของรัฐเตรียมความพร้อมและเร่งดำเนินการจัดหาพัสดุไว้ล่วงหน้า เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว จะได้ลงนามในสัญญาได้ทันที ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของรัฐบาลเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
ข่าวเด่น