นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “ติดตามสถานการณ์ขนส่ง ในอนุภูมิภาค GMS” ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้าทางถนนรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับและพัฒนากลไกในการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าทางถนนข้ามแดน (Inter-state) ผ่านแดน (Transit)ระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านตามกรอบความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) และการใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรอบความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Cross-Border Transport Agreement: GMS CBTA) ประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ กัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม ไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน (Connectivity) เพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยการรวมกลุ่มกันในอนุภูมิภาค (Community) กรมการขนส่งทางบกจึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้าทางถนนรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (GMS) โดยศึกษารูปแบบการขนส่งทางถนนข้ามแดน (Inter-state) ผ่านแดน (Transit) ระหว่างประเทศ ข้อมูลสภาพเส้นทางและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในเส้นทางที่มีศักยภาพตามแนวระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อจัดทำเป็นรายงานหรือคู่มือ “การพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ” รวมถึงผลการศึกษาในรูปแบบ e-books และไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเผยแพร่ไปยังภาครัฐ ภาคเอกชนด้านการขนส่งสินค้าทางถนนของประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์ รวมถึงการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนนในการพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศ เพื่อยกระดับการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า รวมถึงศึกษาแนวทางการจัดตั้งพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area: CCA) ซึ่งจะผลักดันให้เกิดขึ้นบริเวณสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ชายแดนของกรมการขนส่งทางบก และการผลักดันให้เกิดคณะกรรมการร่วมด้านการขนส่งระดับชายแดนที่จะเป็นกลไกระหว่างหน่วยงานรัฐของไทยกับเพื่อนบ้านในอนาคต
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการขนส่ง โดยได้พัฒนา “ศูนย์รวมข้อมูลการขนส่งด้วยรถบรรทุก (Truck Data Service Center: TDSC)” เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและองค์ความรู้ด้านการขนส่งสินค้าทางถนนแบบวงจร ทั้งยังเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลการขนส่งสินค้าและวัตถุอันตราย เพื่อใช้ในการวางแผนการขนส่งและการจัดการกับเหตุฉุกเฉิน รวมถึงฐานข้อมูลเส้นทางหลักและเส้นทางตามกรอบความตกลงระหว่างประเทศ ฐานข้อมูลผู้ประกอบการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศและภายในประเทศ ขั้นตอนการขออนุญาตประกอบการ ระบบรับรองมาตรฐาน Q Mark ระบบสารสนเทศสถานีขนส่งสินค้า ข้อมูลสถิติการขนส่งสินค้าทางถนน เป็นต้นในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กรมการขนส่งทางบกเร่งรัดการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าในเมืองหลัก 8 แห่ง และพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าชายแดนอีก 11 แห่ง พร้อมพัฒนาศักยภาพสถานีขนส่งสินค้าที่ให้บริการแล้ว 3 แห่ง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พุทธมณฑล คลองหลวง และร่มเกล้า) เพื่อรองรับให้บริการผู้ประกอบการขนส่งและเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศเพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ทั้งในด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความมั่นคงปลอดภัย
ข่าวเด่น