อสังหาริมทรัพย์
บทความเรื่องคอร์รัปชั่น-โกง-จริยธรรม-จรรยาบรรณ จาก ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม


ช่วงหลังๆ คำว่า คอร์รัปชั่น มีการใช้บ่อยครั้ง เช่น การต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นต้น เพราะรู้สึกว่าคนทั่วไป จะเข้าใจได้ดีกว่าคำไทยๆ ทั้งที่เป็นคำต่างด้าว

มีหลายคนก็ใช้ว่าทุจริตประพฤติมิชอบซึ่งก็ยาวหน่อย เพราะมีถึง 7 พยางค์ และต้องถามต่อว่าทุจริตคืออะไร และประพฤติมิชอบอย่างไร

ที่จริงคอร์รัปชั่นนั้นก็คือโกง

โกงน่าจะเข้าใจได้ง่ายๆ ถ้าจะบอกว่า ก็คือ การใช้อุบายเล่ห์เหลี่ยมหลอกลวง หรือ ยักยอกสิ่งที่ไม่ควรได้มาเป็นของตน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ

การผิดศีล ข้อ 2 (ยักยอก) และข้อ 4 (หลอกลวง) นั่นเอง

เมื่อใช้เล่ห์ยักยอกสิ่งที่ไม่ควรได้มาเป็นของตน ก็ย่อมทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง เสียในสิ่งที่ไม่ควรเสียไป เช่น

การที่ผู้บริหารเรียกรับผลประโยชน์จากบุคคลภายนอกที่มารับจ้าง หรือขายสินค้าให้บริษัท หรือหน่วยราชการที่ตนทำงานอยู่ ก็ย่อมทำให้บริษัท / ราชการ เสียหาย เพราะต้องจ่ายค่าจ้างหรือราคามากกว่าที่ควร เพราะสามารถเจรจาให้ผู้รับจ้าง / ผู้ขาย ลดราคาลงเท่ากับหรือมากกว่าส่วนเกินที่ต้องจ่ายลงได้

การที่พนักงาน / ข้าราชการทำงานไม่เต็มที่ ทำงานน้อยกว่าที่ตกลงตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือ โกงเวลาทำงาน ไม่ว่าจะแจ้งเท็จว่าป่วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ป่วย ก็เข้าข่ายเป็นการโกงประเภทหนึ่ง

ในทางกลับกัน การมีจิตอาสาทำงานเพื่อสาธารณะกุศล การออกค่าใช้จ่ายบางส่วนเอง ทั้งๆ ที่มีสิทธิ์เบิกได้ตามระเบียบ การเอาใจจดจ่อกับความสำเร็จของงานที่ทำ หรือทำงานมากกว่าที่ ตกลงหรือมุ่งคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ก็ควรจะถือเป็นความเสียสละและเป็นความดีความชอบ เพราะเป็นการเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวมนั่นเอง

 


 

คำที่ตรงข้ามกับโกงหรือ “Corruption” ก็น่าจะเป็นจริยธรรมหรือ “Ethics”

จริยธรรมคือ ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ หรือศีลธรรมนั่นเอง

ส่วน “Ethics” ก็คือ “Morality” ซึ่งมีความหมายตรงกับจริยธรรมหรือศีลธรรม

อีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน คือจรรยาบรรณ” (Professional Ethics) ซึ่งเป็นการประมวลความประพฤติสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพแขนงต่างๆ ที่ถูกต้องตามจริยธรรม เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียงของวิชาชีพนั้นๆ หรือเพื่อป้องกันการใช้วิชาชีพในการโกงผู้อื่นนั่นเอง

ดังนั้นการที่ผู้รับจ้าง หรือผู้ประกอบวิชาชีพแขนงต่างๆ ทำงานให้มากกว่าหรือดีกว่าที่ตกลงกับผู้ว่าจ้าง ก็ย่อมสมควรได้รับการชื่นชมยกย่องว่าทำงานเกินกว่าความรับผิดชอบ และจะได้รับงานต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ทั้งจากผู้ว่าจ้าง และจากการแนะนำต่อเนื่องไปสู่งานอื่นๆ

ตัวอย่างอีกลักษณะหนึ่ง เช่น

ผู้บริหารที่ถือหุ้นบริษัท ตั้งใจบริหารงานให้ผลดีกว่าที่คาดคิดไว้ ทำให้บริษัทกำไร เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้เขาได้รับโบนัส” “เงินปันผลและราคาหุ้นของบริษัทที่เขาถือหุ้นอยู่มากขึ้นด้วย

กรณีนี้เข้าข่ายได้ประโยชน์ทั้งคู่หรือ “WIN-WIN”

จะไม่มีใครต่อว่า ว่าผู้บริหารนั้นทำเพื่อประโยชน์ตนเอง เพราะบริษัทได้รับประโยชน์มากกว่า แต่เป็นผลพลอยได้ที่ทำให้ผลประโยชน์ส่วนตัวเพิ่มขึ้นด้วย

ผลพลอยได้ถือว่าเป็นแรงจูงใจที่ผู้บริหารมีส่วนในการถือหุ้นบริษัท ที่เขาทำงานอยู่ ทำให้เขาทุ่มเททำงานมากกว่าปกติ

บริษัทเอกชนจำนวนมาก ใช้วิธีจ่ายโบนัสประจำปี 1 หรือ 2 เดือน เท่าๆ กันทุกคนนั้น ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้ทำงานดีกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งเป็นแนวความคิดแบบสังคมนิยม (คอมมิวนิสต์) ที่มาจากความเสมอภาคที่ควรจะแบ่งจ่ายเท่าๆ กัน

ในทางกลับกัน บริษัทที่จ่ายโบนัสต่างกันตามผลงาน หรือความดีความชอบ (Merit Pay) ก็ย่อมจะสร้างแรงจูงใจได้ดีกว่า

จะเห็นจากตัวอย่างบริษัทที่มีผลประกอบการดีเด่นทั่วโลกส่วนใหญ่มักจะมีผู้บริหารหลักเป็น ผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะรู้สึกมีความเป็นเจ้าของ และมีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่าบริษัทที่ผู้บริหารไม่ได้เป็น ผู้ถือหุ้น

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้บริหารยิ่งถือหุ้นในบริษัทมากเท่าไหร่ การโกงบริษัทจะลดลง เพราะการโกงบริษัท ก็คือ การโกงตัวเอง นั่นเอง

ดังนั้น การป้องกันการทุจริตด้วยการออกกฎหมาย กฎระเบียบ และกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะสร้างความโปร่งใส เพิ่มการตรวจสอบ ตลอดจนการกำหนดโทษเพื่อปรามการโกงแล้ว การส่งเสริมให้มีส่วนเป็นเจ้าของ การสร้างความรักบริษัทหรือองค์กรที่ทำงานอยู่ตลอดจน ความรัก ในวิชาชีพ เกียรติยศศักดิ์ศรี ชื่อเสียง วงศ์ตระกูล สังคม และประเทศชาติล้วนมีส่วนทำให้การโกงหรือทุจริตประพฤติมิชอบหรือ “Corruption”ลดลงได้

แต่จะก่อให้เกิดจิตอาสาที่พร้อมจะเสียสละ ทุ่มเท ทำงานเพื่อวิชาชีพ องค์กร หมู่คณะ สังคม และประเทศชาติเพิ่มขึ้น

ดร. ประทีป ตั้งมติธรรม

สิงหาคม 2561


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ส.ค. 2561 เวลา : 10:40:38
30-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2025, 11:27 am