เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐบาลเตรียมตั้งกรรมการหนุนการลงทุน


การลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ  ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย  ซึ่งรัฐบาลเตรียมตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานการลงทุนที่มีนายกฯ เป็นประธาน  เพื่อขจัดปัญหาอุปสรรคลงทุนด้านกฎหมายและข้อระเบียบต่างๆ คาดประกาศใน 1-2 สัปดาห์นี้

 

 

 

                    

โดยดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานการลงทุนขึ้นมาใหม่อีก 1ชุด   เพื่อดูแลนักลงทุนแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (วัน สต็อปเซอร์วิส) และขจัดปัญหาอุปสรรคในการลงทุนทางด้านกฎหมายและข้อระเบียบต่างๆ แก่นักลงทุนต่างชาติที่จะสนใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศ ไทย โดยขณะนี้ได้ร่างหลักการเสร็จ แล้ว   อยู่ระหว่างรอให้นายกรัฐมนตรีลงนาม   คาดว่าจะประกาศและมีผลบังคับใช้ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์จากนี้

         

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าว จะเป็นการทำงานแบบบูรณาการ โดยจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน มีรัฐมนตรีหรือตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม   เกษตรและสหกรณ์   พาณิชย์ คลัง และมหาดไทย เป็นต้น โดยมีสำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นฝ่ายเลขา

        

ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะไม่ซ้ำซ้อน กับบีโอไอและสำนักงานอีอีซี  แต่จะเป็น การหนุน ส่งเสริมให้ดีขึ้น เพราะบีโอไอมีอำนาจในการให้สิทธิประโยชน์ สำนักงานอีอีซีมีอำอาจในการอำนวยความสะดวก ปลดล็อกใบอนุญาตต่างๆ    แต่บางครั้ง ยังมีข้อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ที่อยู่นอกเหนืออำนาจของบีโอไอและอีอีซี  ก็จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนี้ที่จะเข้าไปช่วยดูเพื่อให้การลงทุนคล่องตัวขึ้น

         

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีบริษัทขนาดใหญ่ เกิดใหม่หลายแห่ง มูลค่าหลายหมื่นล้านบาทหลายรายที่สนใจอยากเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย แต่กฎหมายไทยยังไม่รองรับธุรกิจเหล่านี้   จึงทำให้ที่ผ่านมากลายเป็นข้อจำกัดในการลงทุน   แต่เมื่อกฎหมายมีการปรับปรุงและยอมรับในธุรกิจใหม่เหล่านี้ เช่น การลงทุนสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอเรนซี)  การระดมทุนผ่านเงินสกุลดิจิทัล (ไอซีโอ) การทำสวนป่า  ธุรกิจแกร็บแท็กซี่   แกร็บไบค์ จะเป็นโอกาสของไทยที่จะเปิดรับการลงทุนกลุ่มนี้

         

นอกจากนี้ ในอนาคตอาจจะมีการลงทุนจากกลุ่มสตาร์ทอัพ เช่น ธุรกิจ แอพพลิเคชั่นจองที่พักอย่าง Airbnb หรือ บริษัท แอร์บัส ที่กำลังทดลองทำเครื่องบินแท็กซี่ สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

 

สำหรับยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนปีนี้ ยังมั่นใจว่าทำได้ถึงเป้าหมาย 7 แสนล้านบาท ส่วนการลงทุนจากจีน  คาดว่าภายในปลายปีนี้จะเห็นชัดว่าสนใจลงทุนธุรกิจอะไรบ้าง เช่น โครงสร้างพื้นฐาน,  ดิจิทัล พาร์ค,  อสังหาริมทรัพย์, ยานยนต์และยางรถยนต์ ,โลจิสติกส์, เกษตรแปรรูป รวมถึงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ส.ค. 2561 เวลา : 00:12:31
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 10:49 pm