การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าถือเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในระยะยาวและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในอนาคต
โดยล่าสุด นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำพิธีกดปุ่มเทคอนกรีตลงสู่ฐานรากเป็นสัญลักษณ์เริ่มการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล หรือ ระบบรางเดี่ยว 2 สายแรกของประเทศไทย คือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับปัญหาการจราจรที่ติดขัดอย่างหนักในขณะนี้ แต่ถือเป็นการแก้ไขปัญหาจราจรในระยะยาว และในที่สุดประชาชนทุกคนก็จะได้ประโยชน์
ขณะเดียวกันได้ฝากให้ภาคเอกชนที่ดำเนินการก่อสร้าง วางแนวป้องกันและอุปกรณ์ให้เหมาะสม ใช้พื้นที่น้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจร รวมทั้งต้องดูแลแรงงานโดยกำหนดเวลาทำงานและระยะสิ้นสุดโครงการที่ชัดเจน ที่สำคัญการก่อสร้างได้มาตรฐาน แข็งแรง รวดเร็ว และกำหนดค่าบริการที่เหมาะสม ให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้
และในส่วนของรัฐบาลยืนยันว่า จะดูแลไม่ให้เกิดการทุจริต ให้ทุกอย่างมีความโปร่งใส และทุกโครงการได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ที่สำคัญต้องเป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง นอกจากนี้โครงการรถไฟโมโนเรลทั้ง 2 สายนี้ จะต้องเป็นตัวอย่างของโครงการอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ดังนั้น ความร่วมมือในลักษณะการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน (PPP Fast Track)จึงเป็นแนวทางที่จะทำให้ทุกโครงการเริ่มก่อสร้างได้รวดเร็ว ทันต่อการพัฒนา ซึ่งมีระเบียบและกติกาและกฎหมายที่ชัดเจน และยืนยันว่าไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใด เพราะเอกชนทั้งหมดสามารถเข้าร่วมมือกับรัฐได้ หากทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับค่าเวนคืนที่ดินที่จะก่อสร้างโครงการนั้น ทั้งส่วนของภาคเอกชนและภาคราชการอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยส่วนของราชการดำเนินการได้เสร็จสิ้นแล้ว ทั้งกรมทางหลวงและกรุงเทพมหานครได้ส่งมอบพื้นที่เกือบ100% เป็นไปตามกฎหมายกรอบงบประมาณ ส่วนเอกชนก็ดำเนินการตามขั้นตอนของข้อกฎหมาย และกรณีข้อเรียกร้องการเวนคืนที่ดินของประชาชนที่ต้องการเพิ่มค่าเวนคืน นั้นมีขั้นตอนทางกฎหมายรองรับ ขณะเดียวกันราคาการเวนคืนที่ดินจะต้องเป็นไปตามราคาประเมินและมีหลักฐานการซื้อ-ขายที่มาจากกรมที่ดิน ไม่ใช่การเรียกร้องราคาที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนเจ้าของ
โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้อย่างเป็นทางการต้น ปี 2565 ส่วนเรื่องอัตราค่าโดยสารเป็นไปตามกรอบที่ รฟม. ได้ศึกษาไว้ ทั้งอัตราค่าแรกเข้า และการใช้ระบบคอมมอนแฟร์ ซึ่งจะต้องศึกษาอย่างรอบคอบ
ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น 6 เส้นทาง ได้แก่ สายสีม่วง , สายสีน้ำตาล (โครงการอนาคต) , สายสีแดง (เปิดให้บริการปี 63) ,สายสีเขียว (ส่วนต่อขยายที่จะเปิดบริการปี 63) , สายสีเทา (โครงการอนาคต) และ สายสีส้ม (เปิดให้บริการปี 66)
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น 6 เส้นทาง ได้แก่ สายสีน้ำเงิน (เส้นทางปัจจุบัน) , สายสีเทา (โครงการอนาคต) , สายสีส้ม (เปิดให้บริการปี 66) , สายสีน้ำตาล (โครงการในอนาคต), แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และ สายสีเขียว (ส่วนต่อขยายเปิดให้บริการในปี 62)
ข่าวเด่น