กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ โชว์ผลวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ไทย พบปี 60 มีมูลค่าซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซถึง 2.8 ล้านล้านบาท ส่งผลให้มูลค่า การขนส่งขยายตัวตามไปด้วย มีมูลค่ากว่า 2.8 หมื่นล้านบาท ชี้แนวโน้มยังขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งการค้าออนไลน์และการขนส่งสินค้า แนะผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวรับการแข่งขัน พัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อสร้างความพึ่งพอใจให้ลูกค้า
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์สถานการณ์ โอกาส ทิศทาง แนวโน้มธุรกิจ E-Commerce และธุรกิจLogistics Express ที่ได้ทำการศึกษาโดยสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ ว่า ผลการศึกษาพบว่าแนวโน้มธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมูลค่าอีคอมเมิร์ซของไทยปี 2560 มีมูลค่ารวมประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.86% โดยแยกเป็นมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2B จำนวน 1.675 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.63% ประเภท B2C จำนวน 8.12 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.54% และอีคอมเมิร์ซประเภทอื่นๆ3.24 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.24% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และคาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัว มาจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนในประเทศ ผู้บริโภครุ่นใหม่นิยมซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น รัฐบาลมีการส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการให้ใช้ช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้าทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการชุมชนSMEs และมีการเข้ามาลงทุนของธุรกิจอีคอมเมิร์ซต่างชาติในไทยเพิ่มขึ้น เช่น อาลีบาบา ซื้อกิจการลาซาด้า อีเลฟเว่นสตรีทจากเกาหลีใต้เข้ามาทำตลาดในไทย การเปิดตัวของเว็บไซต์ ช้อปปี้ กลุ่มเซ็นทรัลร่วมทุนกับเจดีดอทคอม และการเข้ามาของอเมซอน เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ผลจากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทำให้ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ขยายตัวตามไปด้วย โดยคาดว่ามีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท เติบโต 10-20% ต่อปี โดยการส่งสินค้า จะแยกเป็น 2 รูปแบบ คือ การขนส่งจำนวนมาก หรือรูปแบบB2B ซึ่งเป็นการขนส่งเพื่อนำไปจำหน่ายต่อหรือนำไปผลิตเป็นสินค้าต่อ และการขนส่งแบบส่งตรงถึงผู้บริโภค หรือ B2C และ C2C ซึ่งตลาดขนส่งในส่วนนี้ มีอัตราการเติบโตเป็นอย่างมาก มีเจ้าตลาด คือ ไปรษณีย์ไทย แต่ก็มีผู้ให้บริการรายอื่นเข้ามาแข่งขัน เช่น
เคอรี่นิ่มเอ็กซ์เพรส และเอสซีจี เอ็กซ์เพรส เป็นต้น
นางจันทิรากล่าวว่า จากแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการไทย ที่จะใช้ช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้า จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการซื้อขายที่จะต้องเน้นความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และต้องวางแผนด้านการจัดส่งสินค้า โดยเฉพาะการจัดส่งพัสดุรายย่อยแบบเร่งด่วน หรือโลจิสติกส์ เอ็กซ์เพรส เพราะจะถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจขยายตัวได้เร็วขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทย จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะมีมากขึ้นเพราะจะมีการเข้ามาแข่งขันในธุรกิจเป็นอย่างมาก ทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ จากโอกาสทางการตลาดที่ยังมีมาก โดยหากสามารถพัฒนาการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการและสร้างความพึ่งพอใจให้กับลูกค้าได้ ก็จะทำให้ธุรกิจมีการขยายตัวได้มากขึ้น
ข่าวเด่น