การค้า-อุตสาหกรรม
สศก. ปูพรม 30 จังหวัด ทบทวนค่าพยากรณ์สินค้าเกษตร 16 ชนิด


สศก. ลุย 30 จังหวัด ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม 2561 ทบทวนผลพยากรณ์ข้อมูลสินค้าเกษตร 16 ชนิด จากปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบ เพื่อความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลจากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน เผยปลายปี เตรียมออกผลพยากรณ์ ไม้ผล 6 ชนิด ปี 2562 เพื่อเตรียมวางแนวทางบริหารจัดการในปีถัดไป

 

 

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานด้านข้อมูลสารสนเทศการเกษตรในการวิเคราะห์ข้อมูลพยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรแต่ละชนิด โดย สศก. ได้กำหนดแผนการลงพื้นที่ตั้งแต่ กรกฎาคม - สิงหาคม 2561 เพื่อติดตามสถานการณ์ สำรวจข้อมูลกลุ่มตัวอย่างทั้งจากผู้นำชุมชน เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้รับซื้อ และหน่วยงานราชการในแหล่งผลิตที่สำคัญของแต่ละชนิดสินค้า ทั่วประเทศรวม 30 จังหวัดๆ ละ 6 หมู่บ้านต่อ 1 สินค้า เพื่อให้ทราบทิศทางของเนื้อที่เพาะปลูก และผลผลิตเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รวมทั้งแรงจูงใจที่ทำให้เกษตรกรยังคงปลูกอยู่หรือขยายพื้นที่ และปัจจัยที่ทำให้หันปรับเปลี่ยนปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ตลอดจนสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ นโยบายส่งเสริมการผลิตต่างๆ ที่มีผลต่อการผลิต

ข้อมูลที่ได้จะนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ค่าพยากรณ์ เพื่อติดตามสถานการณ์เป็นระยะ และเป็นการยืนยันผลพยากรณ์ให้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมทั้งติดตามปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลต่อการปรับค่าพยากรณ์กรณีมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เกิดอุทกภัยในบางพื้นที่ ปัญหาโรคระบาด ศัตรูวัชพืช เป็นต้น ซึ่งปัจจัยต่างๆ ล้วนมีผลต่อความคลาดเคลื่อนของค่าพยากรณ์ ดังนั้นการลงพื้นที่เพื่อการติดตามสถานการณ์จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการจัดทำข้อมูลของ สศก.

สำหรับเดือนกันยายน สศก. จะเร่งดำเนินการทบทวนผลพยากรณ์ปี 2561/62  ภายหลังการลงพื้นที่แล้วเสร็จ               ในสินค้าที่ดำเนินการ รวม 16 ชนิดสินค้า จากที่ได้คาดการณ์ไว้ เดือน มิถุนายน 2561 ประกอบด้วย ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง สับปะรด กาแฟ  ปาล์มน้ำมัน  ยางพารา  กลุ่มพืชหัว คือ กระเทียม มันฝรั่ง หอมแดง หอมหัวใหญ่ และ กลุ่มประมง คือ กุ้งกุลาดำ กุ้งขาวแวนนาไม ปลานิล และปลาดุก และนำเสนอคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตรต่อไป และในปลายปีนี้ สศก. จะมีการคาดการณ์ผลพยากรณ์ไม้ผลครั้งที่ 1 ปี 2562  รวม 6 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย และลิ้นจี่ เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนมาตรการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแต่ต้นฤดูในปีถัดไป

ทั้งนี้ การพยากรณ์ข้อมูลสินค้าเกษตร ของ สศก. เป็นการพยากรณ์เชิงปริมาณ โดยการสร้างแบบจำลองทางเศรษฐมิติ (Econometrics Model) ประมาณค่าด้วยวิธีวิเคราะห์การถดถอย (Regression Analysis)  โดยตัวแปรตามหรือตัวแปรที่ต้องการพยากรณ์ ได้แก่ เนื้อที่เพาะปลูก และผลผลิตต่อไร่ ตัวแปรอิสระหรือตัวแปรปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ เนื้อที่เพาะปลูกในปีที่ผ่านมา ราคาที่เกษตรกรขายได้ ราคาพืชแข่งขัน ต้นทุนการผลิต ปริมาณน้ำในเขื่อน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังใช้ข้อมูลเนื้อที่เพาะปลูกจากการแปลภาพถ่ายดาวเทียมมาประกอบการตัดสินใจในการเลือกหรือปรับค่าพยากรณ์ที่ได้จาก Model และได้ใช้ข้อมูลจากการรายงานระดับตำบล และรายงานระดับอำเภอ จากกรมส่งเสริมการเกษตร มาประกอบการตัดสินใจร่วมด้วยเพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบันมากที่สุด ทั้งนี้ ท่านที่สนใจข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตร สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่  ส่วนปฏิบัติการข้อมูลการเกษตร ศูนย์สารสนเทศการเกษตร โทร. 0 2561 2870 หรือ อีเมล prcai@oae.go.th


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.ย. 2561 เวลา : 14:27:23
16-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 16, 2025, 5:40 pm