นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดโรงคัดบรรจุพืชผักผลไม้สด (Packing House) ณ บ้านโนนเขวา จังหวัดขอนแก่น ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการจัดทำระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต และเพิ่มโอกาสด้านการแข่งขัน ผ่านตลาดและการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ ด้วยการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีแปลงติดต่อกัน แต่อยู่ในชุมชนเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน ปัจจุบันมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมการเกษตรแบบแปลงใหญ่กว่า 277,127 ราย จำนวน3,724,607 ไร่ แบ่งเป็น 11 กลุ่ม ได้แก่ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ผัก/สมุนไพร เป็นต้น โดยเป็นกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านโนนเขวา 93 ราย พื้นที่ 370 ไร่ พืชผักที่ปลูกขายมี 9 ชนิด ได้แก่ คะน้าต้น คะน้ายอด กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน คื่นช่าย ผักชีไทย ใบกระเพรา ผักกาดหอม ต้นหอม ซึ่งทั้งเกษตรกรและผลผลิตผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ทุกราย ทุกชนิดพืช และขณะนี้สามารถขยับปริมาณการส่งผลผลิตได้ถึง13 ตัน/สัปดาห์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,354,528 บาท โดยใช้เวลาเพียง 6 เดือน (ตั้งแต่มีนาคม2561จนถึงปัจจุบัน) จากเดิมที่ส่งได้ 5 - 8 ตัน/สัปดาห์ มูลค่า 172,000 บาท
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า “การขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำการผลิต ไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม กระทรวงเกษตรฯ ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคดำเนินการร่วมกันอย่างบูรณาการ รวมทั้งให้แสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากภาคเอกชนในการประสานข้อมูลความต้องการด้านการตลาด จับคู่กับภาคการผลิตของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร โดยใช้กลไกลการขับเคลื่อนผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ซึ่งมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน พิจารณาว่าสินค้าใดเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ ผลิตยังไม่เพียงพอ สินค้าใดที่มีปัญหาจำเป็นต้องแก้ไข ล้นตลาด ราคาตกต่ำตามฤดูกาล เพื่อใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการสินค้าเกษตรครบวงจรในพื้นที่จังหวัด มีการสร้างการรับรู้ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจ สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ผลิตสินค้าตามมาตรฐาน แปรรูป ออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีระบบตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิต จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานผลักดันส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตสินค้าเกษตรที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อให้มีรายได้ที่แน่นอน และมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่อไป”
สำหรับเกษตรกรในพื้นที่บ้านโนนเขวา หมู่ที่ 3 ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ทำนาเป็นอาชีพหลัก และปลูกผักเป็นอาชีพเสริม แต่เกิดภาวะวิกฤตน้ำท่วมในปี 2554 เกษตรกรจึงมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาปลูกผักมากขึ้น เพราะใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่น้อยกว่าการปลูกข้าว และได้ราคาที่สูงกว่าการทำนา แต่การปลูกผักของเกษตรกรในชุมชนนี้ เป็นการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว คือ เกษตรกรรายหนึ่งปลูกผักแค่ชนิดเดี่ยว ผลผลิตที่ได้จึงไม่มีความหลากหลาก โรคและแมลงศัตรูพืชเข้ามาทำลายพืชผักที่ปลูกได้ง่าย จึงมีการใช้สารเคมีในปริมาณที่มาก เพื่อให้ผลผลิตมีออกจำหน่ายมากขึ้น โดยไม่ได้มีการคำนึงถึงสุขภาพทั้งของตัวเกษตรกรและผู้บริโภค ต่อมาในปี 2558เกษตรกรบ้านโนนเขวา กว่า 43 ราย พื้นที่รวม 300 ไร่ (เป็นการรวมกลุ่ม แต่ยังไม่มีการจดทะเบียนเป็นกลุ่มเกษตรกรทำสวน) เพื่อหันมาผลิตผักเป็นอาชีพหลัก ลดพื้นที่การทำนา จากการส่งเสริมของรัฐบาลตามนโยบายลดพื้นที่นาปรัง และการปลูกพืชอื่นทดแทนตามหลัก Zoning by Agi-mapเนื่องจากพื้นที่ไม่มีความเหมาะสมต่อการทำนา และในการปลูกผักยังคงมีการใช้สารเคมีในปริมาณที่มาก ขาดความรู้ด้านการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ต้นทุนการผลิตสูงจากการใช้สารเคมีเกษตร และการตลาดที่ขายได้เฉพาะในท้องถิ่น และการขาดอำนาจในการต่อรองราคาสินค้าเกษตรจากพ่อค้าคนกลาง กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานภาคี จึงเข้าให้ความรู้ด้านการปลูกผักปลอดสารพิษ จนเกษตรกรเกิดความเชื่อมั่น และเห็นความสำคัญของการทำเกษตรแบบปลอดภัย หันมาเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน (GAP) ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ทั้ง 43 ราย และในปี 2559 เกิดการรวมกลุ่มขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านโนนเขวา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 และจากปัญหาราคาพืชผักไม่แน่นอน ที่แม้ว่าพืชผักที่เกษตรกรปลูกจะได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้วก็ตาม แต่ยังคงโดนกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง และปัญหาหนี้สินจากการกู้ยืมพ่อค้าคนกลางมาลงทุนในการผลิต กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานภาคี เข้าให้การสนับสนุนแก่เกษตรกรเพื่อร่วมกลุ่มในระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ประเภทสินค้าพืชผัก และช่วยเหลือด้านราคาสินค้า โดยประสานงานกับหน่วยงานเอกชน คือ บริษัท เทสโก้ โลตัส เข้ามารับซื้อ โดยเป็นการตกลงราคาร่วมกันในราคาที่พึงพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย จนกระทั่งปัจจุบันได้ขยายผลโครงการโดยก่อสร้างโรงคัดบรรจุพืชผักผลไม้สด (Packing House) ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัย ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงแหล่งเพาะปลูก เพื่อรักษาความสดใหม่ของผักตั้งแต่แหล่งผลิต จนถึงพัฒนาระบบขนส่งโดยรถควบคุมอุณหภูมิเพื่อเดินทางไปยังศูนย์กระจายสินค้าเทสโก้โลตัส จังหวัดขอนแก่น ก่อนกระจายไปสู่สาขาต่าง ๆ ในภาคอีสานต่อไป
ข่าวเด่น