การค้า-อุตสาหกรรม
'CLOSER' เปิดประสบการณ์ใหม่กับจิวเวลรี่ชิ้นโปรด


ในโลกปัจจุบันที่แข่งขันกันด้วยดีไซน์ ไอเดีย และนวัตกรรม แน่นอนว่าใครที่ปรับตัวเร็วและมองเห็นโอกาสก่อนย่อมไปได้เร็วกว่า หากแต่ใครที่ไม่คิดจะปรับตัวเลย ยังคงนำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเดิมๆ วันหนึ่งย่อมต้องโบกมืออำลาวงการไปในที่สุด จิวเวลรี่ก็เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้เพียงแค่ดีไซน์อาจจะไม่พอสำหรับการนำเสนอผลงานสักชิ้น การสร้างนวัตกรรมเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่อาจจะเป็นอีกทางเลือกที่ทำให้เกิดความประทับใจและต่อยอดไปได้มากขึ้น

 

 

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่าปัจจุบันนี้ แนวโน้มการซื้อสินค้าและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยหันมาซื้อสินค้าตามความต้องการและความรู้สึกของตัวเองเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคมีโอกาสสั่งสินค้าได้สะดวก รวดเร็วผ่านออนไลน์ เกิดการเปรียบเทียบคุณสมบัติ ประสิทธิภาพ และประโยชน์ใช้สอย ดังนั้นสินค้าที่มีนวัตกรรมย่อมได้เปรียบเพราะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม สร้างความแตกต่าง และทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความพิเศษเฉพาะที่ได้มีโอกาสใช้สินค้าเหล่านั้น ตลอดจนการใช้นวัตกรรมมาต่อยอดเรื่องราวและแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์หรือแก่นแท้ของผลิตภัณฑ์ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน และสร้างการยอมรับในระดับสากล

 

 

ภายในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 62 ระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2561 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัด นิทรรศการแสดงสินค้านวัตกรรมและงานออกแบบ (Innovation and Design Zone หรือ IDZ) บริเวณแถว FF อาคารชาเลนเจอร์ 2ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยนำผู้ประกอบการ Start Upนักออกแบบประสบการณ์และทีมเทคโนโลยีมัลติมีเดียในเชิงสร้างสรรค์มาใช้ ซึ่งไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ “CLOSER” ที่ได้นำเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์มาใช้เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการได้เผยแพร่สินค้าของตนเอง และบุคคลทั่วไปได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องประดับและผู้สวมใส่ ผ่านอินสตอลเลชั่น (Installation) ที่ใช้เทคนิคโปรเจ็คชั่นแบบอินเตอร์แร็คทีฟ (Interactive) โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจนำจิวเวลรี่ชิ้นโปรดมาสแกนบนโพเดียมที่จัดไว้และรับชมทุกมุมมอง 360 องศา ด้วยภาพขนาดใหญ่ ทำให้ได้เห็นทุกมุมมองอย่างใกล้ชิด ทั้งในแง่วัสดุที่ใช้ การออกแบบ และความประณีตเชิงหัตถศิลป์ได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

 

 

นางสาวจิตราภา เลิศทวีวิทย์ (ปราง) นักออกแบบประสบการณ์ และเจ้าของAnother New Design Studio ผู้ออกแบบ “CLOSER” เล่าว่าปัจจุบันประเทศไทยอาจไม่ได้คิดค้นนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเครื่องประดับมากนักเราต้องการให้คนในแวดวงเริ่มเห็นความสอดคล้องของการใช้เทคโนโลยีกับเครื่องประดับ เราจึงมองไปที่การที่ความเป็นดิจิทัลนั้นจะช่วยให้เราสัมผัสคุณค่าของสิ่งที่เป็น analog อย่างเครื่องประดับได้มากขึ้น  “CLOSER” ได้ชี้นำการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องประดับของเขาแต่ละคน

 

 

อัญมณีเครื่องประดับเป็นของที่ใส่บนร่างกายเพื่อเติมเต็มตัวของเรา หรือสื่อสารตัวของเรา เป็นสิ่งหนึ่งที่ใกล้ชิดตัวเรามากที่สุด นอกจากคุณค่าของวัสดุ มูลค่าของเครื่องประดับแล้ว ยังรวมเอาคุณค่าทางจิตใจ ทางกาลเวลา ประวัติความเป็นมา ความประณีตในฝีมือช่าง และคุณค่าทางศิลปะเอาไว้ด้วย เราจึงต้องการสร้างความชื่นชมจิวเวลรี่ในวงกว้าง ไม่เจาะจงเฉพาะแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง การได้ถูกห้อมล้อมด้วยจิวเวลรี่ในมุมมองที่มากกว่าที่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ได้เห็นรายละเอียดพิเศษรวมถึงตำหนิซึ่งทั้งหมดเป็นความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ของชิ้นงานนั้นๆ

 

 

ผู้แสดงงานทุกท่านสามารถใช้ installation นี้ใน IDZ ในการนำเสนอชิ้นงานเครื่องประดับของตนให้กับผู้ชมงาน ผู้ชมงานเองก็สามารถใช้โอกาสที่มาร่วมงานครั้งนี้ได้ตกหลุมรักเครื่องประดับของตนเองให้มากขึ้น เกิดเป็นความประทับใจในการมางานแสดงสินค้านี้ ในยุคที่โลกเราเต็มไปด้วยสิ่งของ ปรางในฐานะนักออกแบบเลือกที่จะสร้างคุณค่าจากการออกแบบสิ่งที่จับต้องไม่ได้ และสนับสนุนการมีของน้อยชิ้นแต่เต็มไปด้วยความหมาย ทะนุถนอมและส่งต่อให้กับรุ่นต่อๆไป เป้าหมายที่ตั้งไว้คือต้องการให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีความคุ้นเคยกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อต่อยอดการนำนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้าในอนาคต

ด้าน นายธนพงศ์ พานิชชอบ กรรมการผู้จัดการ ยิ้มเสมอ โปรดักชั่น (Yimsamer Production) ผู้รับหน้าที่เป็น Creative Technologist ของโปรเจ็คท์CLOSER เล่าว่า โปรเจ็คท์นี้ใช้เวลาเตรียมการและดำเนินการประมาณ 2 เดือน ซึ่งเทคนิคโปรเจคชั่น แมปปิ้ง (Projection mapping) ถือเป็นหนึ่งในวิธีการของยิ้มเสมอในการเปลี่ยนบริบทหรือส่งเสริมพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งให้มีความหมายมากยิ่งขึ้น โดยเจ้าของเครื่องประดับจะสามารถสัมผัสจิวเวลรี่อย่างใกล้ชิดแบบ 360 องศาในพื้นที่ที่สร้างขึ้นไว้โดยเฉพาะ เป็นการดึงเอาความรู้สึกที่อยู่ในส่วนลึกของผู้ชมออกมา นอกเหนือจากการชมความงามเมื่อสวมใส่ การทำงานครั้งนี้ถือเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่นำเอาอินเตอร์แร็คทีฟ มาใช้กับอัญมณีและเครื่องประดับ แต่ในต่างประเทศมีการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวไปไกลมากแล้ว ประเทศไทยอาจจะต้องเริ่มปรับเปลี่ยนและลดข้อจำกัดด้านต่างๆ ลงเพื่อสร้างโอกาสนำเสนอผลิตภัณฑ์และงานดีไซน์ให้หลากหลายมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับสากล โดยยิ้มเสมอเองก็พยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน ทำให้คนในวงการศิลปะ-ออกแบบ และคนในวงการเทคนิค-วิทยาศาสตร์เข้าใจกันให้ได้และพร้อมจะช่วยกันนำเสนอคุณค่าใหม่ๆ ผ่านนวัตกรรมให้กับวงการจิวเวลรี่บ้านเรา

พบกับ “CLOSER” ได้ใน นิทรรศการแสดงสินค้านวัตกรรมและงานออกแบบ (Innovation and Design Zone หรือ IDZ) ภายในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 62 ระหว่างวันที่ 7-11กันยายน 2561  อาคารชาเลนเจอร์ 2 แถว FF ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยความร่วมมือจากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (มหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ก.ย. 2561 เวลา : 17:38:51
16-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 16, 2025, 6:09 pm