หุ้นทอง
การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน


การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จ ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ไปอย่างรวดเร็ว ในอดีตรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานมีลักษณะเหมือนเส้นตรง (Linear) ไม่ซับซ้อน กิจกรรมต่างๆ เรียงลำดับเป็นขั้นตอน ประกอบด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนไม่มาก บริษัทส่วนใหญ่จึงเน้นการ พัฒนาประสิทธิภาพในมิติเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เช่น การพัฒนาคุณภาพเชิงเทคนิค การลดต้นทุน และความรวดเร็ว ในการจัดส่งสินค้า เป็นต้น ต่อมาการดำเนินธุรกิจมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ประกอบไปด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หลากหลาย ความสัมพันธ์ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานจึงเปลี่ยนจากเส้นตรงมาเป็นรูปแบบเครือข่าย (Network) โดยมีความต้องการของลูกค้าเป็นแรงผลักดันสำคัญในการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ในระบบ ห่วงโซ่อุปทานของบริษัท ส่งผลให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ต้องร่วมมือกัน เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

นอกจากลูกค้าซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีผู้มีส่วนได้เสียของ องค์กรทั้งผู้บริโภค ผู้ลงทุน พนักงาน และสังคม ต่างเริ่มให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการประเด็นด้านความยั่งยืน ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานมากยิ่งขึ้น ตลอดจน เรียกร้องให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการคู่ค้า บริษัทต่างๆ ที่เล็งเห็นถึงประโยชน์และโอกาส ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ จึงเริ่มผนวกแนวความคิดด้านความยั่งยืนเข้าไปในการดำเนินกิจกรรม ตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกคู่ค้า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและกระบวนการติดตามการดำเนินงานของ คู่ค้าเพื่อยกระดับการดำเนินธุรกิจ ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้คู่ค้าปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินธุรกิจ อย่างยั่งยืนของบริษัทเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน นำมาซึ่งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้งตัวธุรกิจ และสังคมในวงกว้าง

คู่ค้า ผู้ค้า หรือคู่ธุรกิจหมายถึง ผู้ผลิต วัตถุดิบ ผู้ขายสินค้า ผู้รับจ้าง และ/หรือให้บริการแก่บริษัท ทั้งที่เป็น นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ไม่ใช่ลูกค้าหรือคู่แข่งทางธุรกิจ

ห่วงโซ่อุปทาน

คือ เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและคู่ค้าของบริษัทในการผลิตและส่งมอบสินค้า ที่แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนของการได้มาซึ่งสินค้าตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง ไปจนถึงการส่งมอบสินค้าหรือบริการไปยังลูกค้า

ห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

คือ การจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตลอด วัฏจักรชีวิตของสินค้าและบริการ

 

 

ประโยชน์ที่ได้จากการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

  • ลดความเสี่ยงที่ธุรกิจจะหยุดชะงัก อันเนื่องมาจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
  • ปกป้องชื่อเสียงบริษัท และสร้าง Brand Value
  • ลดต้นทุนในกระบวนการดำเนินธุรกิจ
  • พัฒนาผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)
  • สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สอดรับกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

กรอบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนตามแนวทางของ UN Global Compact

 

 

แสดงความมุ่งมั่น (COMMIT)

  • กำหนดวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน
  • จัดทำแนวปฏิบัติหรือจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) ที่ครอบคลุมประเด็นสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการสนับสนุนให้คู่ค้ามีการดำเนินงานอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม

ประเมินขอบเขต (ASSESS)

  • ศึกษากิจกรรมต่างๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานและประเมินขอบเขตในการดำเนินโครงการเพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานว่าควรครอบคลุมคู่ค้าในกลุ่มใดบ้าง เช่น คู่ค้ารายสำคัญ (Key Suppliers) คู่ค้าเชิง  กลยุทธ์ (Strategic Suppliers) เป็นต้น

กำหนดกลุ่มคู่ค้า (DEFINE)

  • ระบุว่าคู่ค้ารายใดเป็นคู่ค้ารายสำคัญของบริษัท โดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้จัดกลุ่มคู่ค้าอย่างชัดเจน เช่น วิเคราะห์จากมูลค่าการค้าที่มีระหว่างกัน ประเภทสินค้า/บริการที่ติดต่อซื้อขาย เป็นต้น

ลงมือปฏิบัติ (IMPLEMENT)

  • กำหนดบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานภายในองค์กรครอบคลุมตั้งแต่ระดับกรรมการบริษัทไปจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายผลิต ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ ฝ่ายคลังสินค้า และฝ่ายจัดส่งสินค้า เป็นต้น
  • จัดให้มีกระบวนการ/ขั้นตอน/วิธีการ/แนวปฏิบัติ เพื่อระบุความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ (เช่น ความเสี่ยงจากการพึ่งพาคู่ค้าน้อยราย ความเสี่ยงจากการได้รับสินค้า/บริการที่ไม่ได้คุณภาพ) สังคม (เช่น สิทธิมนุษยชน การดูแลพนักงานและแรงงาน) และสิ่งแวดล้อม (เช่น การปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม) ที่เกิดจากคู่ค้าของบริษัท
  • สร้างการมีส่วนร่วมกับคู่ค้า เพื่อสื่อสารความคาดหวังและความตั้งใจของบริษัทในการบริหารจัดการความยั่งยืน ตลอดจนหาแนวทางเพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันและสร้างพลังความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน 

วัดผลและติดตาม (MEASURE)

  • มีการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า (Supplier code of conduct) เช่น การตรวจประเมินตนเองของคู่ค้า (Self-assessment) การตรวจประเมินโดยองค์กรอิสระภายนอก (Third-party Audit) หรือการตรวจประเมิน สถานประกอบการของคู่ค้า (Site Visit) เป็นต้น
  • มีแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม เพื่อช่วยพัฒนาการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของคู่ค้า ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับบริษัท 

เปิดเผยข้อมูล (COMMUNICATE)

  • ปิดเผยแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานครอบคลุมตั้งแต่กลยุทธ์ การประเมินความเสี่ยงของคู่ค้า การบริหารจัดการคู่ค้า การตรวจสอบประเมินคู่ค้า รวมถึงกิจกรรมพัฒนาคู่ค้าทั้งในเชิงพาณิชย์และความยั่งยืน

 

กรณีศึกษา : บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (SAT)
(
บริษัทได้รับรางวัล SET Sustainability Awards of Honor 2017 และได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน ประจำปี 2560)

บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT เป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มุ่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยกลยุทธ์ “3 สมบูรณ์ สร้างดุล ซึ่งประกอบด้วย ฅนสมบูรณ์ ธุรกิจสมบูรณ์ และชุมชนสมบูรณ์ บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นพัฒนาคู่ค้าในด้านศักยภาพและการยกระดับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้แก่คู่ค้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานของ SAT ตลอดจนเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตไปพร้อมกับบริษัท

บริษัทกำหนดนโยบายจัดซื้อสีเขียวที่ครอบคลุมทั้งการจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งที่ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนต้องผ่านการรับรองด้านคุณภาพและความปลอดภัย โดยมีกระบวนการสุ่มตรวจวัดปริมาณสารต้องห้ามและสารกัมมันตรังสีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการผลิตของบริษัทมีความปลอดภัยต่อลูกค้าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ บริษัทยังใช้ความรู้และศักยภาพไปช่วยพัฒนาคู่ค้า ผ่านโครงการต่างๆ เช่น 

  • การพัฒนาคู่ค้าให้ได้รับการรับรองในโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ตั้งแต่ปี 2556-2561 มีบริษัทคู่ค้าเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันไปแล้ว 100 ราย
  • การถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยให้แก่คู่ค้า
  • การเพิ่มผลผลิตและความเข้มแข็งให้คู่ค้าผ่านการถ่ายทอดความรู้ระบบการผลิตแบบ
    โตโยต้า (Toyota Production System: TPS)

ในปี 2561 บริษัทร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการสนับสนุนคู่ค้าให้เข้าร่วมการประเมินความยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้านของคู่ค้า ตลอดจนเพื่อให้คู่ค้ามีโอกาสรับทราบประเด็นที่สามารถนำไปพัฒนาปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทจัดกิจกรรมให้ความรู้และร่วมถ่ายทอดประสบการณ์จากการเข้าร่วมการประเมินความยั่งยืน รวมถึงให้คำปรึกษาและเป็น Mentor ให้แก่คู่ค้าตลอดระยะเวลาโครงการ  ปัจจุบันมีคู่ค้าที่เป็นบริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมโครงการนำร่อง 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (MSC) และ บริษัท สหมิตรเครื่องกล จำกัด (มหาชน) (SMIT)

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ก.ย. 2561 เวลา : 10:34:39
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 11:15 pm