การพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัล ถือเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับการนำประเทศเข้าสู่Thailand 4.0 ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจและประชาชน ให้มีความสะดวกมากขึ้น
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.บ.การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ตลอดจนการกำหนดแนวทางการคุ้มครองประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลและผู้ใช้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมกำกับดูแลการพิสูจน์และยืนยันตัวตน โดยมี รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธานกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลโครงข่ายระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเป็นการทั่วไป, ออกประกาศ คำสั่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้, กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการของบริษัทผู้ให้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รวมทั้งการกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
ด้านน.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ. ดิจิทัลไอดี มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. พัฒนาโครงข่ายระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (โครงข่ายฯ) ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ 2. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รวมทั้งกำกับดูแลผู้ให้บริการ และ 3. ยกระดับการให้บริการของหน่วยงานของรัฐ โดยหน่วยงานของรัฐสามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายฯ ได้
ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้หนังสือเวียนถึงธนาคารพาณิชย์ เรื่องการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ให้บริการยืนยันตัวตนของลูกค้าหรือให้ข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล โดยธปท.เห็นว่า ปัจจุบัน วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและ ต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความเชื่อมโยงกับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนในลักษณะพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนโครงการ การพิสูจน์และยืนยันตัวต้นทางดิจิทัล (National digital ID: NDID) ซึ่งเป็นระบบกลางในการยืนยันตัวตนทาง ดิจิทัลของประเทศ ธปท.จึงเห็นควร ขยายขอบเขตให้ธนาคารทำหน้าที่ในการยืนยันตัวต้นของลูกค้าหรือให้ข้อมูล ในรูปแบบดิจิทัลได้ แต่การให้บริหาร หรือให้ข้อมูลของลูกค้า ธนาคารต้องคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าและได้รับความยินยอมจากลูกค้าด้วย
โดยธปท.กำหนด 4 เงื่อนไข ที่แบงก์ต้องปฏิบัติตาม 1.ธนาคารต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้า 2.การนำเทคโนโลยี มาใช้เพื่อให้บริการแก่พันธมิตรทาง ธุรกิจของธนาคาร ขอให้ธนาคารพัฒนาหรือใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการรายอื่นๆในโครงการ NDIDได้ในอนาคต
3.ต้องไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในรูปแบบสัญญา หรือเทคโนโลยีที่ใช้ อันอาจมีการจำกัดสิทธิในการเลือกใช้บริการลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ ของธนาคาร 4.ธนาคารต้องมีระบบการบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วย ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า หลังจาก ร่าง พ.ร.บ. ดิจิทัลไอดีผ่านความเห็นชอบแล้ว ในส่วนของธนาคารคาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการยืนยันตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (E-KYC) ได้ทันทีภายใน ต.ค.นี้ สำหรับธุรกรรมแรกๆที่ธนาคารจะนำ E-KYC มาใช้แรกๆคือ การเปิดบัญชีเงินฝากสำหรับลูกค้าใหม่ ผ่านระบบโมบายแบงกิ้งของธนาคาร โดยธนาคารจะมีการสร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ลูกค้าใหม่สามารถเข้ามาสมัครและเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารได้ โดยธนาคารจะมีการดึงข้อมูลจากธนาคารอื่นๆที่ลูกค้าเคยเปิดบัญชีอยู่แล้วเพื่อมาช่วยให้การเปิดบัญชีง่ายมากขึ้น โดยคาดว่าการนำE-KYCมาใช้ จะทำให้ธนาคารมีฐานลูกค้าเงินฝากเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นบัญชี
ข่าวเด่น