การค้า-อุตสาหกรรม
สศก. ร่วมเวทีกลุ่มผู้ส่งออกใน BIMSTEC เดินหน้าความร่วมมือโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร


สศกร่วมประชุมกลุ่มผู้ส่งออกใน BIMSTEC การจัดการโซ่คุณค่าของสินค้าเกษตร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เน้นร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ด้านไทย ชู แผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร ปี 2560 - 2564 และจัดทำ ...ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ปี 2560 ในการพัฒนาโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร 

 

 

นายวิณะโรจน์  ทรัพย์ส่งสุข  เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในฐานะผู้นำความร่วมมือด้านการเกษตร ภายใต้กรอบ “ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Muiti-Sectoral Technical and Economic cooperation : BIMSTEC) ได้จัดการประชุมกลุ่มผู้ส่งออกใน BIMSTEC ประเด็น “การจัดการโซ่คุณค่าของสินค้าเกษตร” ในระหว่างวันที่ 30-31 กรกฎาคมที่ผ่านมา กรุงเนปยีดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศกลุ่มผู้ส่งออกในBIMSTEC 4 ประเทศ ได้แก่ ศรีลังกา อินเดีย บังกลาเทศ และไทย รวมทั้งผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา  เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร โดยมี Dr. Thanda Kyi ผู้อำนวยการฝ่ายแผน กระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทาน เป็นประธานการประชุม และในส่วนของไทยมีผู้แทนจาก สศก. เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

 ในการนี้ ที่ประชุมได้หารือร่วมกันในประเด็นต่างๆ ที่แต่ละประเทศนำเสนอ ประกอบด้วย 1) การบูรณาการแผนขับเคลื่อนภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร ปี 2560 - 2564 และจัดทำพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญา ปี 2560 ของประเทศไทย  2) แผนขับเคลื่อนโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ภายใต้แผนปฏิบัติงานแห่งชาติสำหรับภาคการเกษตร ปี 2559/60 - 2563/64 โดยเน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าด้วยหลักการ Myanmar GAP            ซึ่งสอดคล้องกับ ASEAN GAP และยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำเกษตรพันธสัญญา ช่วงปี 2560 - 2561 ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 7,772 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว  3) แผนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เน้น 4 รูปแบบของประเทศศรีลังกา ได้แก่ การพัฒนาโซ่คุณค่า การถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาธุรกิจบริการด้านการเกษตร   4) ความสำคัญต่อการพัฒนาโซ่คุณค่าโดยจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมให้เหมาะสมของอินเดีย เพื่อให้ผู้ประกอบการใหม่สามารถผลิตนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตลาด บ่มเพาะธุรกิจให้เติบโต และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าภายในประเทศเพิ่มขึ้น  5) นโยบายด้านการเกษตรของประเทศบังกลาเทศ ปี 2561 มุ่งเน้นการสร้างโซ่อุปทานที่ยั่งยืนตั้งแต่ผู้ผลิตถึงผู้บริโภค และ 6) ภาคเอกชนของเมียนมาให้ความเห็นว่าภาครัฐควรมีกฎหมายหรือข้อบังคับเพื่อดูแลคู่สัญญาของเกษตรพันธสัญญา และควรร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพิ่มขึ้นเพื่อให้การพัฒนาโซ่คุณค่าภายในประเทศสมาชิกให้มีประสิทธิภาพ

สำหรับประเทศไทย ได้เน้นการบูรณาการแผนขับเคลื่อนภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร  ปี 2560 - 2564 และจัดทำพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ปี 2560 ของประเทศไทย โดยกระทรวงเกษตรฯ มีโครงการภายใต้แผนขับเคลื่อนฯ จำนวน 91 โครงการ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับประเทศไทยและอินเดียในการจัดทำกลไกทางกฎหมายในระบบเกษตรพันธะสัญญาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเห็นพ้องว่าการสร้างความไว้วางใจกันระหว่างคู่สัญญาเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าควรมีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านเกษตรพันธสัญญาให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับกฎหมาย นโยบายและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรให้เป็นรูปธรรมชัดเจนต่อไป

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ก.ย. 2561 เวลา : 12:05:29
16-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 16, 2025, 9:04 pm