“คนร. รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ โดยมีการเสนอการรวมกิจการระหว่าง บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท. เพื่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศ เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรและลดการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน”
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้เปิดเผยผลการประชุม คนร. ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดย คนร. ได้พิจารณาและรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่ง ซึ่งในภาพรวมรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น และได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจกับ พนักงาน สหภาพแรงงาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจพนักงาน และประชาชน โดยมีสาระสำคัญและ คนร. ได้ให้นโยบาย ดังนี้
1. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท) คนร. รับทราบข้อเสนอของ กระทรวง DE ในการควบรวมกิจการของ บมจ ทีโอที และ บมจ. กสท และเห็นชอบการแต่งตั้งคณะทำงานเตรียมการรวมกิจการของ บมจ ทีโอที และ บมจ. กสท โดยมอบหมายให้กระทรวง DE บมจ ทีโอที และ บมจ. กสท จัดทำรายละเอียดในการควบรวมกิจการข้างต้นให้ครบถ้วนภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
2. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) คนร. ได้มอบหมายให้ บกท. เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานเพื่อให้เป็น National Premium Airline ได้ตามเป้าหมาย และมีผลประกอบการและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง รวมทั้งให้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในภาครัฐและหน่วยงานเอกชน เพื่อสร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ด้านการขนส่งทางอากาศยานในภูมิภาคและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองตามนโยบายรัฐบาล
3. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คนร. ให้ ขสมก. เร่งจัดหารถโดยสาร 3,183 คัน โดยด่วน เพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการประชาชนโดยพิจารณาประเภทเชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน และมอบหมายให้ ขบ. กำหนดเส้นทางการเดินรถให้สะดวกกับประชาชนและศึกษาราคาค่าบริการมาตรฐานสำหรับขนส่งมวลชนแต่ละประเภท (Mobility Unit Price) ในราคาค่าบริการที่มีความเป็นธรรม
4. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางที่สำคัญได้เป็นไปตามแผนงาน ทั้งนี้ คนร.ได้มอบหมายให้ รฟท. เร่งดำเนินการต่างๆ เช่น บริหารจัดการทรัพย์สินของ รฟท. และการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินการต่อไป
5. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้แล้ว และจะทยอยเพิ่มทุนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ซึ่ง ธอท. มีผลประกอบการในช่วง 8 เดือน เป็นกำไรสุทธิทั้งสิ้น 811 ล้านบาท ทั้งนี้ คนร. ได้มอบหมายให้ ธอท. เร่งดำเนินการฟื้นฟูกิจการให้ธนาคารมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวมทั้งขยายฐานลูกค้ามุสลิมให้เพิ่มขึ้นตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งและการนำเทคโนโลยีมายกระดับการดำเนินงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารในปัจจุบัน
ข่าวเด่น