นับถอยหลังอีกแค่ 2 สัปดาห์ ก็จะจบไตรมาส 3 และเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปื 2561 คือ ไตรมาส 4 ดังนั้นต้องมามาพิจารณาดูกันว่า ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เป็นอยู่ ส่งสัญญาณถึงทิศทางตลาดหุ้นในอีก 3 เดือนข้างอย่างไร และไตรมาสสุดท้ายของปี กระแสของ Fund Flow จะไหลเข้า หรือไหลออกกันแน่
หากย้อนไปดูตั้งแต่ปี 2559 มาจนถึงต้นปี 2561 เห็นได้ว่า SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 44% ขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 1852.51 จุด เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2561 สอดคล้องกับตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ทำจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้เช่นกัน เป็นที่มาที่ทำให้หุ้นภูมิภาค รวมถึงไทย ถูกต่างชาติขายทำกำไรออกมามากกว่าปกติในปีนี้ นั่นเอง
โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2561 มา (ytd) พบว่า ต่างชาติขายสุทธิหุ้นภูมิภาค สูงถึง 2.25 หมื่นล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิสูงสุด นับตั้งแต่สหรัฐฯเริ่มส่งสัญญาณปรับลดการทำ QE ในปี 2556 เป็นต้นมา ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการขายสุทธิตลาดหุ้นทั้ง 5 ประเทศ
ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ytd ถูกขายสุทธิมากที่สุดเป็นอันดับ 2 กว่า 6.6 พันล้านเหรียญ หรือ 2.11 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการขายสุทธิ 29% ของยอดขายรวมทั้ง 5 ประเทศ
จากประเด็นดังกล่าว ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ประเมินว่า จากสถานการณ์ของสงครามการค่า และค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาที่อ่อนค่า จะยังกดดันให้การไหลกลับมาของ Fund Flow และจากการศึกษา วิเคราะห์กระแส Fund Flow ย้อนหลังไป 10 ปี พบว่า ไตรมาส 4 ต่างชาติมักจะขายสุทธิหุ้นไทยมากที่สุด
โดยไตรมาส 4 ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย เฉลี่ยสูงถึง 2.30 หมื่นล้านบาท เป็นการขายสุทธิถึง 7 ใน 10 ปี โดยเฉพาะช่วง 5 ปีหลังสุด ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยในไตรมาส 4 ทุกปี
ดังนั้น ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส จึงมองว่า แม้ในช่วง 2 วันสุดท้ายของสัปดาห์ที่ผ่านมา ความคืบหน้าทางการเมืองหนุนให้ต่างชาติซื้อหุ้นไทยราว 2.3 พันล้านบาท แต่เป็นการไหลกลับเข้ามาช่วงสั้นเท่านั้น เนื่องจากสถิติช่วง 6 เดือนก่อนมีการเลือกตั้ง 6 ครั้งหลังสุด พบว่า ต่างชาติซื้อหุ้นไทยไม่มาก โดยมียอดซื้อสุทธิสะสมเฉลี่ยเพียง 2.6 พันล้านบาท และเป็นการซื้อสุทธิ 2 ใน 6 ครั้งเท่านั้น
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AECS ระบุว่า ทิศทางการลงทุนตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ Technical View คาด SET Index มีแนวโน้ม Zigzag ขึ้นต่อ โดยมองมีโอกาสสูงที่จะทะลุแนวต้าน 1,730 จุด ซึ่งหากทะลุได้จริงจะมีแนวต้านถัดไปที่ 1,745 จุด ฝ่ายวิจัย แนะกลยุทธ์ลงทุน โดยให้มุมมองเชิงเทคนิคมี Sector ที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มพลังงาน อาทิ PTTEP, TOP, BCPG กลุ่มธนาคาร อาทิ TMB , KBANK กลุ่มค้าปลีก อาทิ ROBINS และ กลุ่มรับเหมา เช่น STEC, UNIQ
“เทคนิคสำหรับนักเก็งกำไรและนักลงทุนลุ้นขยับขึ้นต่อ โดย Sector ที่คาด Outperform ตลาดสัปดาห์นี้เลือกกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG) Top Pick ที่เลือก ได้แก่ PTTEP , BCPG ,TOP และ กลุ่มธนาคาร (BANK) Top Pick ได้แก่ KABNK , TMB ”
สำหรับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ทางฝ่ายวิจัย แนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังต่อความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ โดยมี 2 ประเด็นหลัก ที่ควรติดตามคือ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่กลับสู่ภาวะไม่แน่นอน หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนยันที่จะเดินหน้าแผนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ตามเดิม สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลางที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น โดยช่วงแรกจะเริ่มเก็บภาษีที่อัตรา 10% และคาดว่าจะยกระดับความรุนแรงขึ้นด้วยการเพิ่มอัตราภาษีเป็น 25% พร้อมเตรียมแผนเก็บภาษีสินค้าครั้งใหม่มูลค่ารวม 2.67 แสนล้านดอลลาร์ ปี 2560 จีนส่งสินค้าไปสหรัฐฯ 6.6 แสนล้านดอลลาร์ ในกรณีที่การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงกับจีนไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
จากการเจรจาครั้งก่อนสหรัฐร้องขอให้จีน เพิ่มสัดส่วนนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ และยกเลิกนโยบายสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีในจีน ซึ่งถือว่าค่อนข้างเข้มงวดมาก ขณะที่ล่าสุดรัฐบาลจีนออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจีนจะยกเลิกการเจรจาร่วมกับสหรัฐฯ หากมีการเก็บภาษีนำเข้าดังกล่าวจริง ทำให้ประเด็นดังกล่าวกลับมากดดัน Sentiment ในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน ยังต้องจับตาตัวเลขเศรษฐกิจ ที่มีผลต่อการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ได้แก่ ตัวเลขดัชนีภาคการผลิต และดัชนี PMI ที่เป็น 2 ตัวเลขสุดท้ายก่อนเข้าสู่การประชุมของเฟดในวันที่ 25-26 ก.ย. เพื่อประเมินความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับเปลี่ยนแผนขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันตลาดให้น้ำหนักกับการขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ราว 80% และติดตามประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจชุดใหม่ของเฟด ซึ่งคาดจะสะท้อนมุมมองด้านผลกระทบของสงครามการค้าต่อการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด
ข่าวเด่น