‘พาณิชย์’ ร่วมการประชุม Eastern Economic Forum (EEF) ครั้งที่ 4 ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกไกล (Far East) พร้อมชวนนักลงทุนไทยขยายตลาดไปรัสเซียตะวันออก เจาะฐานผู้บริโภคใหม่และใช้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาค
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเยว่า ได้นำคณะผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมEastern Economic Forum (EEF) ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 11 – 13 กันยายน 2561 ณ เมืองวลาดิวอสต็อก สหพันธรัฐรัสเซีย โดยการประชุม EEFเป็นหนึ่งในเวทีการประชุมด้านเศรษฐกิจที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของรัสเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “Look East” หรือ Turn to the East ของประธานาธิบดีรัสเซีย นายวลาดิมีร์ ปูติน ที่ต้องการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกไกล (Far East) และให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียมากขึ้น หลังจากที่รัสเซียถูกมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก โดยจะเน้นความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union : EAEU) ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเทศ คือ รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน และเอเชีย โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอาเซียน
นายสกนธ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เน้นถึงการประชาสัมพันธ์เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ โอกาสทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนเงินทุน รวมถึงการนำเสนอความพร้อมในด้านโลจิสติกส์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งจากรัสเซียและต่างชาติ และตั้งเป้าหมายให้ ภูมิภาค Far East เป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นภายใน 2-3 ปี ในปีนี้ นอกจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แล้ว ยังมีผู้นำจากประเทศต่างๆ อาทิ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จากญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีลี นัก-ยุน จากเกาหลีใต้ และประธานาธิบดีคัลต์มา บัตทุลกา จากมองโกเลีย ให้เกียรติเข้าร่วมการประชุมและกล่าวสุนทรพจน์ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เน้นถึงประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย การรวมกลุ่ม และเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหากระแสชาตินิยมและนโยบายปกป้องทางการค้าทั้งนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการรวมกลุ่มของภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เกิดความสมดุลทางอำนาจและทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในโลก
นายสกนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุม EEF ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “The Far East : Expanding the Range of Possibilities”หรือการขยายศักยภาพของภูมิภาคตะวันออกไกล เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวของรัสเซีย มีขนาดใหญ่ โดยมีพื้นที่ครอบคลุมถึงร้อยละ 10 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งแร่ธาตุ ถ่านหิน ป่าไม้ และสัตว์น้ำจำนวนมาก นอกจากนี้ เมืองวลาดิวอสต็อก ยังอยู่ห่างจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้เพียง 700 กิโลเมตรเท่านั้น อีกทั้งรัฐบาลรัสเซียมีการส่งเสริมการลงทุนในหลายด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง ท่าเรือ การศึกษา เป็นต้น โดยสำหรับปี 2561 รัฐบาลรัสเซียมีแผนการลงทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาภูมิภาคตะวันออกไกลเป็นเงินถึง 4,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ภูมิภาคดังกล่าวยังไม่ได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ เท่าที่ควร โดยการลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาหัวข้อ “ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและรัฐเซีย” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากหลายประเทศทั้งจากอาเซียนและรัสเซีย ซึ่งการเสวนาฯ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่าย ทั้งนี้ ในปี 2560 การค้าระหว่างอาเซียนและรัสเซีย เติบโตถึงร้อยละ 35 แต่ประชาชนทั่วไปและนักธุรกิจของทั้งสองฝ่ายอาจจะยังไม่รู้จักกันดีเท่าที่ควร ทั้งที่มีอุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในหลายด้าน อุปสรรคที่สำคัญในการลงทุนและขนส่งสินค้าในรัสเซีย คือ กฎระเบียบที่ซับซ้อน และระยะทางที่ห่างไกล รวมทั้งการที่ประชาชนในอาเซียน ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมรัสเซีย โดยในปี 2561 กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมีเพียงประเทศเวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซียเท่านั้น ที่มีการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย ดังนั้น นักลงทุนของไทยจึงอาจพิจารณาขยายตลาดมายังรัสเซียตะวันออกเพิ่มขึ้น เพื่อเจาะฐานผู้บริโภคใหม่และใช้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ในภูมิภาคนี้ โดยการจัดงาน EEF และการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐของรัสเซีย น่าจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างรัสเซียและอาเซียนมากขึ้น
นายสกนธ์ เสริมว่า ได้แจ้งที่ประชุมถึงศักยภาพของประเทศไทย ทั้งในการเป็นฐานการผลิต การลงทุน และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึงบทบาทของไทยในอาเซียน โดยเฉพาะการรับตำแหน่งเป็นประธานการประชุมอาเซียนในปี 2562 ที่ไทยให้ความสำคัญกับประเด็น MSMEs การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ความเชื่อมโยง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ภูมิภาคอาเซียน พัฒนาเป็นหนึ่งในผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ยังได้หารือกับผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ และผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าไทย รวมทั้งผู้แทนจากรัฐบาลรัฐ Primorsky ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกไกลและมีเมืองวลาดิวอสต็อกเป็นเมืองหลวง เพื่อหารือเรื่องแนวทางการประกอบธุรกิจ ความร่วมมือ และการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะการที่รัฐ Primorsky มีที่ตั้งในภูมิภาคเอเชีย ทำให้การขนส่งสินค้ามีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการขนส่งไปยังภาคตะวันตกของรัสเซียเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ สาขาที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้ ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง เกษตร และอาหารทะเล ซึ่งหลายสาขาเป็นภาคธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญ จึงสามารถมีโอกาสร่วมทุน หรือจับคู่ธุรกิจกับนักลงทุนท้องถิ่นได้ ทั้งนี้ รัฐบาล Primorsky ให้ความเห็นว่า ผู้ประกอบการไทย ควรเดินทางมาเยี่ยมชมภูมิภาค Primorsky ด้วยตัวเอง เพื่อจะได้เข้าใจตลาดและสิทธิประโยชน์จากการลงทุนในภูมิภาคดังกล่าว และเสนอให้มีการจับคู่ระหว่างธุรกิจใน Primorsky และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Easter Economic Corridor : EEC) ของไทย เพื่อให้นักธุรกิจสร้างความคุ้นเคยระหว่างกันและเพิ่มโอกาสการลงทุนร่วมกัน
ทั้งนี้ สินค้าไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกมายังภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย ได้แก่ ผักและผลไม้กระป๋อง ทูน่ากระป๋อง อาหารแปรรูป ซอสปรุงรส น้ำผลไม้ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ในบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยและรัสเซีย ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน 5 เท่าใน 5 ปี (2559-2563) โดยในปี 2560 การค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่า 3,130 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้ การค้าระหว่างไทยและภูมิภาค Far East คิดเป็น 125.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแม้จะเป็นจำนวนไม่มาก แต่การส่งออกจากไทยมายังภูมิภาคดังกล่าว เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 จากปี 2559
ข่าวเด่น