เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ส่งออกไทยเดือน ส.ค. ขยายตัวที่ 6.7%YOY ชะลอตัวลงตามสินค้าหมวดสำคัญ และสงครามการค้า


มูลค่าการส่งออกไทยเดือนสิงหาคมขยายตัว 6.7%YOYชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 8.3%YOY นำโดยการชะลอตัวในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ขยายตัว 2.1%YOY ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 10.7%YOY ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และน้ำตาลทราย เป็นต้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัว 5.8%YOY ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 7.7%YOY  ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์และพลาสติก และโดยเฉพาะทองคำที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ -66.6%YOY โดยเมื่อพิจารณาการส่งออกที่ไม่รวมทองคำจะขยายตัวที่ 10.3%YOY เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 8.2%YOY อย่างไรก็ตาม สินค้าหมวดเกษตรกลับมาขยายตัวที่ 5.6%YOY หลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้าที่ -2.3%YOY ได้แก่ ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2018 เติบโตที่ 10.0%YOY

มาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเนื่องโดยในเดือนสิงหาคม มูลค่าสินค้าที่ถูกตั้งเก็บภาษีนำเข้าโดยสหรัฐฯ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์) และเครื่องซักผ้า-เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ หดตัวที่ -80.7%YOY และ -10.3%YOYทำให้มูลค่าการส่งออกของสินค้ากลุ่มดังกล่าวในภาพรวมหดตัว-35.6%YOY และ -0.04%YOY ตามลำดับ ขณะที่สินค้าอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเดียวกัน ได้แก่ เหล็ก-เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ในภาพรวมยังขยายตัวได้ที่ 2.7%YOY และ21.8%YOY ตามลำดับ นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์จากไทยไปยังจีน ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อ 6กรกฎาคม หดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2017 ที่ -10.7%YOYทำให้มูลค่าการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ในภาพรวมขยายตัวที่6.3%YOY ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 14.2%YOY

 

 

มูลค่าการนำเข้าเติบโตเร่งขึ้นที่ 22.8%YOY โดยเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2018 จากการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 6.22%YOY จาก 0.6%YOY ในเดือนก่อนหน้า ได้แก่ เหล็ก-เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ตามการลงทุนภายในประเทศที่ฟื้นตัว รวมถึงการนำเข้าสินค้าในหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวเร่งขึ้นที่ 37.8%YOY จาก 2.8%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะมูลค่าการนำเข้าทองคำที่ขยายตัวถึง268.6%YOY สูงสุดในรอบ 11 เดือน โดยการนำเข้าที่ไม่รวมทองคำขยายตัวที่ 13.9%YOY เร่งขึ้นเพียงเล็กจากเดือนก่อนหน้าที่ 13.1%YOY ทั้งนี้ การนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2018 เติบโตที่ 15.9%YOY

อีไอซีคงประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2018 ที่ 8.5% โดยในช่วงที่เหลือของปี 2018 มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราที่น้อยกว่าในช่วงครึ่งปีแรก (11.0%YOY)ตามทิศทางการค้าโลก และปัจจัยฐานสูงในปีก่อนหน้าที่จะเริ่มมีผลมากขึ้นรวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบมากขึ้นในบางหมวดสินค้า  อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าการส่งออกยังเติบโตได้จากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่ยังขยายตัว และราคาสินค้าส่งออกที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

จับตาผลกระทบการส่งออกไทยจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าเพิ่มเติมระหว่างสหรัฐฯ และจีน การส่งออกไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้นจากการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติมที่อัตรา 10% โดยเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 24 กันยายน และจะเพิ่มเป็น 25% ในเดือนมกราคม2019 มูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สินค้าส่งออกไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เช่น ยางแผ่น ไม้แผ่นและไม้แปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น อาจได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ อีไอซีประเมินว่าสัดส่วนมูลค่าสินค้าส่งออกสินค้าในหมวดดังกล่าวที่ไทยส่งไปจีนคิดเป็นสัดส่วนราว 4.1% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ขณะที่มาตรการตอบโต้ของจีนที่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ในครั้งล่าสุดนี้ จะยังไม่กระทบการส่งออกไทยมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับการส่งออกไทยค่อนข้างน้อย ในทางกลับกัน การส่งออกของไทยอาจได้รับประโยชน์จากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยจากรายงานสำนักงานนโยบายยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่าสินค้าส่งออกของไทยมีศักยภาพในการทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ สูงได้แก่ ข้าวสี ยางแท่ง กรดซิติก และเครื่องยนต์สันดาปภายใน

อีไอซีคาดมูลค่าการนำเข้าทั้งปี 2018 จะขยายตัวที่ 15% เพิ่มจากที่เคยคาดไว้ก่อนหน้าที่ 13.5%YOY จากการนำเข้าที่ขยายตัวสูงเกินคาดในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี2018 จากการบริโภค และการลงทุนภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี รวมถึงราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงกว่าที่คาดซึ่งสนับสนุนให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งนี้ การนำเข้าที่ขยายตัวสูงและมากกว่าการขยายตัวของการส่งออกทำให้ไทยขาดดุลการค้าในเดือนสิงหาคม 588 ล้านดอลลาร์สหรัฐๆ แต่ดุลการค้า 8 เดือนแรกยังเกินดุลอยู่ในระดับสูงที่ 2,351ล้านดอลลาร์สหรัฐๆ สะท้อนถึงเสถียรภาพระหว่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.ย. 2561 เวลา : 17:30:43
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 10:35 pm