“โอสถสภา” ประกาศช่วงราคาเสนอขายไอพีโอที่ 22-25 บาทต่อหุ้น รอรับเงิน 1.3-1.5 หมื่นล้าน เตรียมโรดโชว์ 24 กันยายน พร้อมเปิดให้นักลงทุนทั่วไปจองซื้อในระหว่างวันที่ 1-4 ตุลาคม ด้านผู้บริหารตั้งเป้านำเงินที่ได้จากการระดมทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเมียนมาร์ เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดพร้อมพัฒนาปรับปรุงการผลิต การจัดจำหน่าย หนุนศักยภาพการดำเนินธุรกิจ รวมถึงรักษาความเป็นผู้นำตลาด
บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของไทยและในภูมิภาคอาเซียน ได้ลงนามในสัญญาแต่งตั้ง บล.บัวหลวง และบล.ภัทร เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์อีก 9 แห่งร่วมจัดจำหน่ายหุ้น ได้แก่ บล.กรุงศรี บล.เคที ซีมิโก้ บล.ทิสโก้ บล.ไทยพาณิชย์ บล.โนมูระ พัฒนสิน บล.ฟินันเซีย ไซรัส บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) บล.เอเซีย พลัส เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
นายวรารัตน์ ชุติมิต กรรมการผู้จัดการ บล.บัวหลวง ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วมและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียน 3,003,750,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 3,003,750,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาทต่อหุ้น โดยมีทุนที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด 2,497,000,000 บาท เป็นหุ้นสามัญ 2,497,000,000 หุ้น และเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและหุ้นสามัญเดิมไม่เกิน 603.75 ล้านหุ้น ซึ่งแบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทไม่เกิน 506.75 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม (บริษัท Orizon Limited และบริษัท Y Investment Ltd) ไม่เกิน 67,000,000 หุ้น และ 30,000,000 หุ้นตามลำดับ คิดเป็นไม่เกิน 20.1% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก เตรียมรับเงิน 13,000-15,000 ล้านบาท
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนจะใช้พัฒนาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเติบโตที่ดีต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยบริษัทมีแผนสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ที่ประเทศเมียนมาร์ เพื่อให้สามารถควบคุมการลงทุนได้และมีความยืดหยุ่นในการตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึงพัฒนาปรับปรุงการผลิต การจัดจำหน่ายสินค้า ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินธุรกิจภายในของบริษัทฯ การนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานต่อไป
ด้านนายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุน บล.ภัทร ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วมและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า ได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นเบื้องต้นระหว่าง 22-25 บาทต่อหุ้น โดย ณ วันจองซื้อ นักลงทุนทั่วไปต้องจองซื้อหุ้น IPO ที่ราคา 25 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น โดยราคาเสนอขายหุ้นสุดท้าย จะถูกกำหนดโดยนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและในต่างประเทศ โดยวิธี Book building หากราคาเสนอขายหุ้นสุดท้ายต่ำกว่าราคา 25 บาท นักลงทุนทั่วไปที่จองซื้อ จะได้รับคืนเงินส่วนต่างระหว่างราคาจองซื้อหุ้น กับราคาเสนอขายหุ้นสุดท้าย
นอกจากนี้ มีนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและในต่างประเทศที่เป็น Cornerstone Investors จำนวน 12 รายได้แก่ บลจ.บัวหลวง บลจ.ภัทรบลจ.กรุงไทย บลจ.ทิสโก้ บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) AIA Company Limited, Thailand Branch, Aberdeen Standard Investment (Asia) Limited, Templeton Asset Management Ltd., York Capital Asset Management Global Advisory LLC และ The Segantii Asia-Pacific Equity Multi-Strategy Fund ได้ตกลงจองซื้อหุ้นของบริษัทฯ ที่เสนอขายครั้งนี้ 259.34 ล้านหุ้น หรือ 43% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมดที่ราคาเสนอขายสุดท้าย
“การแสดงความสนใจ และเข้าทำสัญญาลงทุนในหุ้นของนักลงทุนสถาบันประเภท Cornerstone ทั้ง 12 แห่งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐาน และศักยภาพในการเจริญเติบโตของบริษัท และคาดจะสามารถกำหนดและประกาศราคาเสนอขายหุ้นสุดท้ายได้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2561 ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯ (www.osotspa.com)”
ขณะที่ นางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า OSP มีความมุ่งมั่นในการรักษาและเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ในฐานะเป็นบริษัทผู้ประกอบธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำ ที่มีประสิทธิภาพและมีนวัตกรรมที่ทันสมัยในประเทศไทยและตลาดต่างประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘พลังเพื่อเสริมสร้างชีวิต’ (The Power to Enhance Life) ที่มุ่งมั่นพัฒนาบริษัทฯให้เป็นองค์กรที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้บริโภคและสังคมด้วยผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่ทันสมัย
ด้วยประสบการณ์ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 127 ปี โดยบริษัทเป็นผู้ผลิต ทำการตลาด และผู้จัดจำหน่ายชั้นนำในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลในประเทศไทย และเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังในเมียนมาร์และลาว และยังเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 25 ประเทศผ่านผู้จัดจำหน่าย
นอกจากนี้ OSP ยังให้บริการอื่นๆ เช่น บริการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน ได้แก่ การผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลภายนอกภายใต้กิจการร่วมค้าและสัญญาบริการผลิตสินค้า (OEM)
“การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ เพื่อเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้มีความแข็งแกร่ง รองรับแผนการรุกขยายธุรกิจครั้งใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของเราที่ต้องการผลักดันการเติบโตแบบก้าวกระโดด และรักษาความเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลในภูมิภาคนี้” นางวรรณิภา กล่าว
ปัจจุบัน OSP แบ่งการดำเนินธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ประกอบด้วยเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ กาแฟพร้อมดื่มและเครื่องดื่มที่มีการเติมส่วนผสมเพื่อให้ได้คุณสมบัติเฉพาะ โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก เช่น เอ็ม-150, เอ็ม-สตอร์ม, ลิโพวิตัน-ดี, ฉลาม, ชาร์คคูลไบท์, โสมอิน-ซัม, เอ็มเกลือแร่ (M-Electrolyte), เอ็ม-เพรสโซ, และเปปทีน 2. ธุรกิจผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล ที่ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กภายใต้ แบรนด์ ‘เบบี้มายด์’ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามสำหรับผู้หญิงภายใต้แบรนด์ ‘ทเวลฟ์พลัส’
3.บริการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน ซึ่งรวมถึงการรับจ้างผลิตและ/หรือบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและของใช้ส่วนบุคคลประเภทให้กับกิจการร่วมค้าและบุคคลภายนอก (OEM) เช่น ซี-วิต และคาลพิส การจำหน่ายขวดแก้วตามสัญญาบริการผลิตสินค้า (OEM) และการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพให้แก่กิจการร่วมค้าของบริษัทฯ และ 4. กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ลูกอมภายใต้แบรนด์ โอเล่ และโบตัน
นางวรรณิภา กล่าวอีกว่า บริษัทมีจุดแข็งด้านแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชั้นนำที่หลากหลายและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในวงกว้าง โดยปัจจุบัน OSP เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังด้วยมูลค่าตลาดค้าปลีก คิดเป็นสัดส่วน 54.4% ของมูลค่าตลาดค้าปลีกของเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศสำหรับปี 2560 (จากรายงาน Frost & Sullivan)
ขณะที่แบรนด์ ‘เบบี้มายด์’ เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอันดับหนึ่งในประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากมูลค่าตลาดค้าปลีกสำหรับปี 2560 โดยไม่รวมผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อมเด็กทารก (จากรายงาน Nielsen) ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวมาจากการวิจัยและพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ ความแข็งแกร่งในด้านกระบวนการผลิต การตลาดและการกระจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมผู้บริโภค โดยมีตลาดหลักได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา และ ลาว และตลาดรองได้แก่ อินโดนีเซียและเวียดนาม
ข่าวเด่น