นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยกรณีเรียกร้องให้มีการตรวจสอบปัญหาด้านความปลอดภัยของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ว่า บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ทำหน้าที่รับจ้างเดินรถให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดย รฟท.ถือหุ้น 100 % โดยบริษัทจะได้รับงบประมาณในการดำเนินงานจาก รฟท. ในแต่ละปี และรายได้จากการดำเนินงานจะต้องส่งมอบให้กับ รฟท. ทั้งหมด
สำหรับประเด็นข้อสงสัยกรณีระบบไฟฟ้าขัดข้องทำให้ขบวนรถไฟฟ้าไม่สามารถให้บริการและหยุดระหว่างทางนั้น เกิดจากทั้งปัจจัยภายในที่ระบบปฏิบัติการขัดข้อง รวมทั้งปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การที่ถูกนกบินชนอุปกรณ์รับกระแสไฟฟ้า และฟ้าผ่าใกล้อุปกรณ์ระบบไฟฟ้า แต่ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ บริษัทได้เร่งตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขเหตุการณ์ตามมาตรการ และได้ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติงานเรื่องการจัดการฝึกซ้อม การจัดการเหตุการณ์บริหารเดินรถในสถานการณ์ปกติ (Normal Operation) การบริหารจัดการเดินรถในสภาวะไม่ปกติ (Degrade Operation) และการบริหารจัดการเดินรถในสถาณการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Operation) การฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานภายนอกต่างๆ ภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน ตามคู่มือบริหารความเสี่ยง รวมถึงแผนเผชิญเหตุของระบบขนส่งสาธารณะทางรางในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ของกระทรวงคมนาคม ทำให้ระบบรถไฟฟ้าสามารถกลับมาให้บริการตามปกติได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีผู้โดยสารได้รับอันตรายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
.jpg)
ส่วนกรณีที่ว่ามีการยุบเลิกระบบรถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ Express Line เหลือเพียงระบบ City Line นั้น บริษัทไม่ได้ยกเลิกระบบรถไฟฟ้าด่วน Express Line แต่ได้นำมาปรับเปลี่ยนภายในขบวนรถไฟฟ้าด่วนให้สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการในระบบ City Line มีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่บริษัทมีขบวนรถไฟฟ้า City Line 5 ขบวน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ทำให้บริษัทจำเป็นต้องนำขบวนรถ Express Line อีก 4 ขบวน มาให้บริการ เพื่อรองรับบความต้องการใช้บริการของผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอ โดยสามารถเพิ่มจาก 45,000 คน/วัน เป็น 74,000 คน/วัน ปัจุบันเฉลี่ย 70,000 คน/วัน
นายสุเทพ ชี้แจงเพิ่มอีกถึงกรณีสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานี เช่น ลิฟต์ และบันไดเลื่อน ว่า บริษัทได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัท ทิสเซ่น ครุปป์ จำกัด เจ้าของระบบทำการตรวจสอบอุปกรณ์ให้มีสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอตามมาตรฐานสากล โดยแยกเป็น
1) ด้านความไม่เพียงพอของขบวนรถไฟฟ้านั้น บริษัทมีรถไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด 9 ขบวน ในปัจจุบันสามารถให้บริการได้ 8 ขบวน เนื่องจากอยู่ในระหว่างซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) คาดว่าจะดำเนินการซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) แล้วเสร็จ และมีรถไฟฟ้าให้บริการครบ 9 ขบวน ในช่วงเดือนธันวาคม 2561
2) ด้านการปรับปรุงบำรุงรักษาระบบรางนั้น โดยปกติแล้วบริษัทจะมีการซ่อมบำรุงรักษา หรือที่เรียกว่าซ่อมบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) อย่างสม่ำเสมอ โดยได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุงราง ร่วมดำเนินการตรวจสอบ หากพบอุปกรณ์ที่มีความชำรุดเสียหายจะเร่งดำเนินการแก้ไขปรับเปลี่ยนทันที
3) ด้านวิศวกรรมซ่อมบำรุง รฟฟท. ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัท ซีเมนส์ ผู้ผลิตรถไฟฟ้า ในการสำรองอะไหล่ในระบบรถไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณ มีการจัดทำแผนเพื่อว่าจ้างบริษัทชั้นนำที่มีประสบการณ์เพื่อเข้ามาดูแลงานซ่อมบำรุงและงานจัดหาอะไหล่สำรองต่างๆให้เพียงพอต่อความต้องการในการใช้งาน และมีการให้บริการการจัดหาอะไหล่สำคัญ (Spare Part Service) ที่ส่งผลต่อการให้บริการ โดยบริษัทได้มีการประเมินสภาพของขบวนรถ และความต้องการอะไหล่ และการซ่อมบำรุงอย่างน้อยในช่วง 2 ปี ข้างหน้าก่อนที่จะรวมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมทั้งได้มีการทำแผนรายละเอียดเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติแล้ว
4) ด้านการจัดหาประตูกั้นชานชาลา (Platform Screen Door) นั้น ขณะนี้บริษัทเตรียมติดตั้งราวกั้นชานชาลา หรือราวกั้นแบบราวสแตนเลสใน 7 สถานี รวม 14 ชานชาลา ซึ่งคล้ายกับรถไฟชินคันเซ็นของประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะใช้เวลาในการติดตั้งประมาณ 3 - 4 เดือน แล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2562 รวมทั้งเตรียมดำเนินการติดตั้งยางปิดช่องว่างระหว่างชานชาลาและประตู (Gap Filler) เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2562 นอกจากนั้นบริษัทมีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารบนชั้นชานชาลา ได้แก่ การทำ Group Release เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารบนชั้นชานลาชาหนาแน่นเกินไป และมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบนชั้นชานชาลา
5) ด้านการประกันภัยแก่ผู้โดยสาร บริษัทมีการจัดทำประกันภัยกรณีเกิดอุบัติเหตุ และอุบัติภัยแก่ผู้โดยสาร และมีมาตรการเยียวยา และช่วยเหลือผู้โดยสารหากเกิดกรณีอุบัติเหตุขึ้นกับผู้โดยสารในการใช้บริการ โดยได้กำหนดขั้นตอนปฏิบัติงาน ( Procedure ) และดำเนินการฝึกซ้อมขั้นตอนปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีการฝึกซ้อมแผนอพยพผู้โดยสาร ฝึกซ้อมเผชิญเหตุการณ์อัคคีภัย และแผนเผชิญเหตุร่วมกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม สำหรับการแต่งตั้งผู้บริหารด้านซ่อมบำรุงนั้น ได้ดำเนินการพิจารณาตามระเบียบด้วยความถูกต้องและเหมาะสม โดยพิจารณาผลการปฏิบัติงานเป็นสำคัญ
นายสุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทได้เร่งดำเนินการนำระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 : 2015 มาใช้ในงานวิศวกรรมซ่อมบำรุง และงานปฏิบัติการเดินรถไฟฟ้าและให้บริการ เพื่อสร้างมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นในด้านการบริการแก่ผู้โดยสาร โดยในส่วนของงานวิศวกรรมซ่อมบำรุงคาดว่าจะได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพ (Certification Body : CB) ในเดือนมกราคม 2562 ส่วนงานปฏิบัติการเดินรถไฟฟ้าและให้บริการนั้น คาดว่าจะได้รับการรับรองจากหน่วยรับรอง ( Certification Body : CB) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
อย่างไรก็ดี บริษัทพร้อมรับฟังความต้องการของผู้โดยสาร เพื่อนำมาพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มความพึงพอใจในการใช้บริการของผู้โดยสาร อาทิ การให้บริการ Free WIFI ในทั้ง 8 สถานี , การให้บริการตู้ Mobile Charger บริเวณชั้นชานชาลา , การจัดโปรโมชั่นการตลาดและสิทธิพิเศษจากบัตรสมาร์ทพาส และการจัดกิจกรรมพิเศษให้แก่ผู้โดยสารในเทศกาลต่างๆ
ข่าวเด่น