เอสเอ็มอี
สสว. เผยความคืบหน้าโครงการ Cluster Day


สสวเผยความสำเร็จการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ SME ด้วยแนวคิดในการพัฒนาแบบคลัสเตอร์เป็นแนวทางการส่งเสริม SME เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เกิดการรวมกลุ่มที่หลากหลาย ได้แก่ คลัสเตอร์สมุนไพร คลัสเตอร์มะพร้าวและกล้วย คลัสเตอร์มวยไทย Digital Content ตลอดจนคลัสเตอร์ฟู้ดทรัค ซึ่งเป็นคลัสเตอร์น้องใหม่ล่าสุด สร้างเม็ดเงินรวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท

 

 

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่  สสว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ SME ที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ  ซึ่งการพัฒนาผู้ประกอบการโดยการสร้างให้เกิดการรวมกลุ่มหรือเครือข่าย ทำให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น  ซึ่งที่ผ่านมา สสว. ได้นำนโยบายการพัฒนาคลัสเตอร์มากำหนดแนวทางการส่งเสริม SME เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  ผ่านโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในปี 2560 โดยเน้นการกระตุ้นความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการ คำนึงถึงความต้องการของตลาด ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการในเครือข่ายให้มีศักยภาพในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ  รวมไปถึงการพัฒนาช่องทางการตลาดในเชิงรุกผ่านการจัดกิจกรรมต่าง เช่น การแสดงสินค้าและการเจรจาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ  ตลอดจนสร้างการรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ของไทยให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้รู้จักมากขึ้น

 

 

ทั้งนี้ โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 งบประมาณ 60,000,000 บาท สสว. ได้มุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจในปี 2560 ในด้านต่างๆ และพัฒนาให้ผู้ประกอบการกลุ่มซึ่งเป็นเครือข่ายใหม่ให้สามารถรวมกลุ่ม และได้รับการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจทั้งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ พัฒนาระบบการบริหารจัดการ  รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้มีความสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่ามากขึ้น  ในอันที่จะสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าต่อไปอย่างยั่งยืน

 


 

ในส่วนของการพัฒนาเครือข่ายหรือคลัสเตอร์สมุนไพร ในปี 2561 สสว. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ส่งเสริมและสนับสนุน SME ในกลุ่มธุรกิจสมุนไพรครอบคลุมตั้งแต่ ต้นน้ำ (ผู้ปลูก) กลางน้ำ (ผู้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์) และปลายน้ำ (ผู้จำหน่าย) รวมถึงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาในท้องที่ของแต่ละจังหวัด เป็น คลัสเตอร์ (Cluster) หรือเครือข่ายที่มีความครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศ ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรที่เข้าร่วมโครงการเกิดการรวมกลุ่มกันอย่างมีความเข้มแข็ง และสานต่อโครงการให้มีความต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จำนวน 9 เครือข่าย ในพื้นที่ 9 จังหวัด

 

กิจกรรมคลัสเตอร์สมุนไพร ปีที่ 2 ประกอบด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการ และเกษตรกรที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับพืชสมุนไพร มุ่งเน้นการบริหารจัดการร่วมกันแบบเครือข่าย โดยมีสมาชิกที่เป็นกลุ่มต้นน้ำ กลุ่มกลางน้ำ และกลุ่มปลายน้ำ รวมทั้งหมด 899 ราย รวมถึงผู้ประสานงานเครือข่าย (CDA) หรือแกนนำคลัสเตอร์ 36 ราย ขณะเดียวกัน ยังสร้างนวัตกรรมด้านการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการกว่า 60 ราย ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างขอสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และยังมีผู้สนับสนุนส่งเสริม (SP) เข้ามาส่งเสริมร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการอีกหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด รวมถึงสำนักงานพาณิชย์จังหวัด สามารถทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นบนหลักการ นวัตกรรมนำงานวิจัย และกำลังอยู่ในช่วงของการดำเนินการจัดตั้ง คลัสเตอร์สมุนไพรแห่งชาติ เพื่อเตรียมการในการก้าวสู่ Social Enterprise Company

นอกจากนี้ ได้ร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัด โครงการสนับสนุนเครือข่าย SMEปี 2561 ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วย”  โดยในกลุ่มมะพร้าวนั้นได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2ส่วนกลุ่มกล้วยเพิ่งเริ่มดำเนินการเป็นปีแรก  ได้รับการตอบรับจาก SME เป็นอย่างดี บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 2,377 ราย แบ่งเป็นกลุ่มมะพร้าว 1,420 ราย และกลุ่มกล้วย957 ราย ได้คัดเลือกผู้ประสานงานเครือข่ายไว้จำนวน 54 ราย (มะพร้าว 33 ราย และกล้วย 21 ราย)เกิดการรวมกลุ่มเครือข่าย 17 กลุ่ม แบ่งเป็นมะพร้าว 10 เครือข่าย และกล้วย 7 เครือข่าย คาดสร้างยอดขายเบื้องต้นรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 120 ล้านบาทในปีแรก

 

 

 นายสุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การที่มวยไทยมีบทบาททั้งในเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศไทย โดยมูลค่าของมวยไทยที่เกิดขึ้นทั้งในด้านกีฬาอาชีพ กีฬาเพื่อสุขภาพ สินค้าสนับสนุน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี สสว. จึงส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายมวยไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายที่สำคัญและกำลังเติบโต ปัจจุบัน ประเทศไทยส่งออกครูมวยไปสอนในต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศจีน สหรัฐอเมริกาและยุโรป ธุรกิจมวยไทยได้รับความนิยมมาก สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ และเป็นกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ จนกลายเป็นกีฬาที่สร้างสุขภาพ มีความเป็นอัตลักษณ์ของชาติ แต่ยังขาดแผนแม่บทในการพัฒนาเครือข่ายอย่างเป็นระบบ

ดังนั้น ในปี 2561 สสว. จึงได้มีการจัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายมวยไทยขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการในกลุ่มเครือข่ายมวยไทยที่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยมุ่งเน้นการรวมกลุ่มของเครือข่ายต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง รวมทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการในเครือข่ายมวยไทย ให้มีศักยภาพในการแข่งขัน โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ พัฒนาระบบการบริหารจัดการ  ตลอดจนการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้มีความสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่ามากขึ้น

 

 

พร้อมกันนี้ ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ทางด้านดิจิทัลคอนเทนต์ จัดทำโครงการ “Digital Content Cluster Day” เพื่อประกาศศักยภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย และยังเป็นเวทีในการเจรจาธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการในกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคลัสเตอร์ ในการกำหนดกรอบ และแนวทางการส่งเสริม SMEs ให้มีความเข้มแข็งยั่งยืน อีกทั้งยังขานรับนโยบาย Thailand Digital ที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในอนาคต  โดยมีผู้ประกอบเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 400 ราย มีทั้งในรูปแบบรายบุคคลและบริษัท นิติบุคคล เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 100 ล้านบาท ทั้งนี้ การจัดโครงการ“Digital Content Cluster Day” เป็นหนึ่งในกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายดิจิทัลคอนเทนต์ ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 ด้วย

นายสุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด สสว . ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัว ฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ประเทศไทย ” ต่อยอดจากฟู้ดทรัคคลับประเทศไทย ทำให้มีผู้ประกอบการรวมกันถึง 600 ราย อันจะสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการให้มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานด้านบริการ มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานความปลอดภัย และมาตรฐานด้านอาชีวอนามัย และสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.ย. 2561 เวลา : 18:07:25
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 6:21 am