กระทรวงพาณิชย์ จับเข่าคุย 6 หน่วยงานงานที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ได้แก่ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กรมป่าไม้ ธ.ก.ส. สมาคมธนาคารไทย และ สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน...ส่งเสริมประชาชนปลูกไม้ยืนต้นสร้างความมั่งคั่งในอนาคต สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หวังให้มีการปลูกป่าอย่างเป็นระบบ...เพิ่มประชากรต้นไม้และพื้นที่สีเขียวให้ประเทศไทยเป็น Green Country รวมทั้ง ใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจขอสินเชื่อต่อยอดธุรกิจ ล่าสุด... ธ.ก.ส.พร้อมปล่อยกู้หลังกฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “จากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญ โดยการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคง ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับประเทศ และทำให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ..... โดย ครม.มีมติรับหลักการ และผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ไม้ยืนต้นทุกชนิดสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้)”
“เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ โดย นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ประชุมหารือร่วมกับ 6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ได้แก่ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กรมป่าไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สมาคมธนาคารไทย และ สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน ในการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเองเพื่อการออม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่งในอนาคต และสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ตลอดจนการใช้ไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.....
“เบื้องต้นที่ประชุมเห็นว่า 1) ผู้ที่ต้องการปลูกไม้ยืนต้นเพื่อใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจควรมีการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกฯ และแจ้งชนิดของไม้ที่จะปลูกอย่างถูกต้องเพื่อทราบจำนวนที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ 2) การปลูกไม้เศรษฐกิจต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดว่าต้องการใช้ไม้ชนิดใดในอนาคต และควรมีการจัดตั้งตลาดซื้อขายไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าเพื่อทราบความต้องการของตลาดและเพื่อป้องกันปัญหาไม้ล้นตลาด (Over Supply) โดยให้ประสานกับสมาคมธุรกิจค้าไม้ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน และธุรกิจที่มีการใช้ไม้เพื่อการพาณิชย์ให้ทราบปริมาณและประเภทของไม้ที่ต้องการใช้ในอนาคต”
“3) ควรขยายตลาดค้าไม้เศรษฐกิจไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น รวมถึง ทำการวิเคราะห์ความต้องการใช้ไม้ของตลาดต่างประเทศเพื่อกำหนดทิศทางประเภทไม้ที่จะปลูกแก่ผู้ได้ขึ้นทะเบียนไว้ เช่น ปัจจุบันไม้สักเป็นที่ต้องการของตลาดตะวันออกกลางเป็นอย่างมาก 4) บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่มีโครงการเกี่ยวกับไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีการบริหารจัดการในทิศทางเดียวกันและสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ เช่น โครงการธนาคารต้นไม้ของ ธ.ก.ส. หรือ โครงการชุมชนไม้มีค่าของ วช. เป็นต้น”
“5) ร่วมมือกันประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการปลูกไม้ยืนต้น โดยเฉพาะไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจเพื่อการออมและสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัว สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต รวมทั้ง เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศ ลดมลพิษทางอากาศ อุทกภัย ภาวะโลกร้อน ซึ่งถือเป็นภาวะวิกฤตของคนทั้งโลก การปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าถือเป็นการทดแทนคุณแผ่นดินประเภทหนึ่ง ผลที่ได้จะเกิดประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังและประเทศชาติเป็นอย่างมาก การปลูกฯ ไม่ใช่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลทางเศรษฐกิจหรือสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่สามารถแก้ปัญหาสังคมทั้งในส่วนของการใช้ประโยชน์ที่ดินและหนี้สินของประชาชนได้ด้วย หากประชาชนให้ความสำคัญและร่วมมือร่วมใจกันปลูกไม้ยืนต้นจะเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรต้นไม้และพื้นที่ป่าของประเทศ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 37 เท่านั้น เมื่อประชาชนคนไทยพร้อมใจกันปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากตนเองจะได้ประโยชน์แล้ว ยังจะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Green Country ประเทศหนึ่งของโลกอีกด้วย”
“สำหรับการรับหลักประกันที่ใช้ไม้ยืนต้นทางเศรษฐกิจเป็นหลักประกันทางธุรกิจจากผู้รับหลักประกัน (สถาบันการเงิน) สมาคมธนาคารไทยแจ้งว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาหลักเกณฑ์การประเมินราคา กระบวนการบังคับหลักประกัน และการกำหนดวงเงินให้กู้ยืม รวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ เนื่องจากเป็นทรัพย์ชนิดใหม่ที่แต่ละสถาบันการเงินยังไม่มีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญเพียงพอ ซึ่งผลการหารือเป็นประการใดจะรีบแจ้งให้กระทรวงพาณิชย์ทราบต่อไป ในขณะที่ ธ.ก.ส. พร้อมรับไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลักประกันทางธุรกิจ หลังจากที่กฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้” รมว.พณ.กล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบัน (4 กรกฎาคม 2559 - 25 กันยายน 2561) มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 257,919 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 5,187,990 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคาร ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 49.81 (มูลค่า 2,584,202 ล้านบาท) รองลงมา คือ สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาเช่า สัญญาซื้อขาย คิดเป็นร้อยละ 28.45 (มูลค่า 1,476,086 ล้านบาท) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ ช้าง โค คิดเป็นร้อยละ 21.62 (มูลค่า 1,121,525 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.04 (มูลค่า 1,975 ล้านบาท) กิจการ คิดเป็นร้อยละ 0.004 (มูลค่า 208 ล้านบาท) และอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 0.00001 (มูลค่า 0.34 บาท)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 5048 e-Mail : Stro@dbd.go.th หรือ สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th
ข่าวเด่น