กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เดินสายเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเรื่อง CPTPPอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดสัมมนาหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของไทยในการเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรี CPTPP” เป็นครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น โดยมี นางสาวอรุณี พูลแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดงาน และมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เกษตรกร และภาคประชาสังคม กว่า 200 คน จาก 9 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ เข้าร่วม
นางสาวอรุณี พูลแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนารับฟังความเห็นในครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้แสดงความสนใจที่จะให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP และได้มีการตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน คณะทำงานฯ ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน โดยมีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้จ้างสถาบันวิจัยดำเนินการศึกษาข้อดี ข้อเสีย และประเมินผลกระทบในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ของไทย รวมทั้งได้จัดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านประกอบการนำเสนอระดับนโยบายตัดสินใจเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทยต่อไป ดังนั้น การสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นเป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากที่มีการจัดไปแล้ว 4 ครั้ง ที่จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ สงขลา และกรุงเทพฯ
นางสาวอรุณี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานที่ขอนแก่น ครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการนำเสนอข้อมูลภาพรวมความตกลง CPTPP และประเด็นที่สำคัญต่างๆ ตั้งแต่การเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สาธารณสุข กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ได้เปิดกว้างให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอรัฐบาลประกอบการพิจารณาเรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP นอกจากนี้ ประชาชนหรือผู้สนใจยังสามารถแสดงความคิดเห็นหรือศึกษารายละเอียดสาระสำคัญเกี่ยวกับความตกลง CPTPP ได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (www.dtn.go.th) ด้วย
ทั้งนี้ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมา สมาชิก CPTPPได้ลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ณ เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี ปัจจุบัน สมาชิกอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลงฯ คาดว่า CPTPP จะมีผลใช้บังคับต้นปี 2562 และหลังจากนั้นจะเปิดรับสมาชิกใหม่ ดังนั้น ภารกิจสำคัญของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ คือการศึกษาวิเคราะห์ ผลดี ผลเสีย ของการเข้าร่วม และจัดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อรวบรวมเสนอรัฐบาลประกอบการพิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป โดยปัจจุบัน ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่มเติม เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อังกฤษ จีนไทเป (ไต้หวัน) และโคลอมเบีย เป็นต้น
ข่าวเด่น