เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. ลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน


ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลง และสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนมีท่าทีที่จะรุนแรงขึ้น ฉุดให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ย.61 ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน  


         

 
 
 
ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย   ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ย.61 อยู่ที่ 82.3 จาก 83.2 ในเดือน ส.ค.61 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.61 เป็นผลมาจากปัจจัยที่สำคัญ 4 เรื่อง คือ 1.ผู้บริโภคกังวลกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น  ซึ่งจะส่งผลให้อำนาจซื้อลดน้อยลง 2.สถานการณ์ที่นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาไทยลดน้อยลง 3.ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เช่น ข้าว, ข้าวโพด และยางพารา, และ 4.สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวลดลง

โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นไปถึง 90-100 ดอลลาร์/บาร์เรล  และส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศอยู่ในระดับสูงกว่า 30 บาท/ลิตร ยกเว้นดีเซลที่รัฐบาลยังคงตรึงราคา ทั้งนี้ พบว่าราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นไปทุก 1 บาท/ลิตร จะทำให้มีเม็ดเงินออกจากระบบไปประมาณ 600-1,000 ล้านบาท/เดือน

ส่วน กรณีนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงนั้น เริ่มเห็นสถานการณ์นี้มาตั้งแต่เดือน ส.ค. และยังมีสัญญาณว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือน พ.ย.ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ทั้งที่อยู่ในกรุงเทพฯ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้รับผลกระทบตามมา ทำให้กำลังซื้อลดลง แต่เชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลายในช่วงหลังเดือนพ.ย.ที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว

รวมทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณ supply ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการยังซึมตัวเมื่อเทียบกับระดับราคาในช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้  ทั้งข้าว, ข้าวโพด, ยางพารา, สับปะรด และปาล์มน้ำมัน  เป็นต้น และสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนยังรอดูความชัดเจนจากปัจจัยทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงทำให้ยังกังวลในเรื่องค่าครองชีพ ระมัดระวังการใช้จ่าย ตลอดจนการซื้อสินค้าคงทนต่างๆ ทั้งบ้าน รถยนต์ รวมทั้งการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดว่าการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะยังคงมีความระมัดระวังมากขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีใหม่ ซึ่งส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอาจจะลดลงต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปีนี้

         

 
 
 
ดร.ธนวรรธน์กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังคงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 61 จะเติบโตได้ในระดับ 4.5-4.5% โดยเชื่อว่าสถานการณ์นักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มกลับมาในช่วงหลังเดือนพ.ย.ขณะเดียวกันเชื่อว่ารัฐบาลจะเร่งรัดในการผลักดันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการเมกะโปรเจ็กท์ต่างๆ  มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย  รวมทั้งการเริ่มกิจกรรมทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในช่วงใกล้การเลือกตั้ง ซึ่งบรรยากาศต่างๆ เหล่านี้จะพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ได้ โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดว่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนในกลางปีหน้า หรือปี 2562  

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ต.ค. 2561 เวลา : 22:14:25
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 12:52 am