เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ยุทธศาสตร์ชาติ" กรอบดำเนินนโยบาย นำพา "ประเทศไทย" สู่การพัฒนายั่งยืน


ในที่สุดประเทศไทยก็มียุทธศาสตร์ชาติเป็นฉบับแรก แม้จะมีระยะเวลายาวนานถึง 20 ปี  แต่ต้องยอมรับว่า จะทำให้ประเทศไทยมีเข็มทิศ และแนวทางในการดำเนินนโยบายต่างๆของรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ
 
 
 
 
 
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2551 - 2580) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 13 ต.ค.2561 ถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทย ที่ทุกส่วนจะต้องนำไปปฏิบัติ เพื่อก้าวสู่วิสัยทัศน์มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  และอยากให้ประชาชนทุกคนไปศึกษาทำความเข้าใจยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปที่มีความเชื่อมโยงกัน โดย 5 ปีแรกนับจากนี้สำคัญที่สุด รัฐบาลหน้าจะต้องทำตามกรอบนี้ แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์
    
 
 
 
 
ยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นแผนแม่บทของกระทรวงต่างๆ เพื่อให้มีทิศทางที่ชัดเจน ใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม มีการประเมินผล  โดยรายงานผ่านรัฐบาลไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ สิ่งใดที่เป็นปัญหาจะแก้ไขอย่างไร ทุกอย่างจะต้องตอบสนองความยั่งยืนของประเทศ เช่น การบริหารจัดการน้ำ โครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางเชื่อมระหว่างเมือง เป็นต้น

 
 
 
 
โดยสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน คือ คนไทยทุกคนจะได้รับการพัฒนาทุกด้านทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน  และมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็สามารถใช้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจได้         
          
 
 

 
 
 
ทั้งนี้ การพัฒนาประเทศในช่วงระยะเวลาของยุทธศาสตร์ชาติ จะมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในรูปแบบประชารัฐ แบ่งเป็น 6 ด้าน ประกอบด้วย

1. ด้านความมั่นคง มีเป้าหมายและประเด็นการพัฒนา อาทิ เน้นการบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย เอกราช อธิปไตย และมีความสงบเรียบร้อยในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติสังคม ชุมชน มุ่งเน้นการพัฒนาคน เครื่องมือ เทคโนโลยีและระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้มีความพร้อมสามารถรับมือกับภัยคุกคาม และภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ และทุกระดับความรุนแรง ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงที่มีอยู่ในปัจจุบัน

2. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติบนพื้นฐานแนวคิด 3 ประการ คือ ต่อยอดอดีต-ปรับปัจจุบัน-สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต

3. ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ เพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดีเก่ง และมีคุณภาพ เป็นต้น

4. ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม มีเป้าหมาย การพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการดึงเอาพลังของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น มาร่วมขับเคลื่อน เป็นต้น

5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้ง สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล และความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างบูรณาการ ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการกำหนดกลยุทธ์และแผนงาน เป็นต้น

6. ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อปรับเปลี่ยนภาครัฐที่ยึดหลัก ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต ความมัธยัสถ์และสร้างจิตสำนึกในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างสิ้นเชิง

 
 
 
นอกจากนั้น กฎหมายต้องมีความชัดเจน มีเท่าที่จำเป็น มีความทันสมัย มีความเป็นสากล มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและเอื้อต่อการพัฒนา โดยกระบวนการยุติธรรมมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและการอำนวยความยุติธรรมตามหลักนิติธรรม

 
 
 
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อใช้บังคับแล้ว จะมีผลให้รัฐบาลหน้าที่มาจากการเลือกตั้งต้องแถลงนโยบาย และเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีให้สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ 
 
 
 
 
 

LastUpdate 15/10/2561 15:03:50 โดย : Admin
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 12:52 am