ปรากฏการณ์ Digital Disruption ด้านหนึ่งเป็นนวัตกรรมที่นำพาความสะดวกสบาย ความรวดเร็วให้กับชีวิตประจำวัน แต่ด้านหนึ่งกำลังกลายเป็นภัยคุกคามมนุษย์ยุคโซเชียล โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก Gen Z ซึ่งเป็นประชากรที่มีอายุน้อย หากไม่มีผู้ใหญ่ช่วยชี้แนะหรือคัดกรองการใช้โซเชียลมีเดียที่เหมาะสม หรือปล่อยให้เด็กอยู่กับสิ่งเหล่านั้นนานเกินไป อาจส่งผลเสียให้สติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ตกต่ำ สะท้อนออกมาในพฤติกรรมความก้าวร้าว ไม่สนใจการเรียน ไม่เข้าร่วมสังคม เกิดการเปรียบเทียบกับคนในโซเชียล ซึ่งบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือคิดฆ่าตัวตาย เพราะขาดการยอมรับนับถือตนเอง แล้วประเทศไทย จะมีวิธีรับมือกับปรากฏการณ์นี้อย่างไร เมื่อเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้น กำลังย้อนกลับมาทำร้ายโดยไม่รู้ตัว
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐที่มีนโยบายในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของชาติให้มีความพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อเป็นรากฐานของไทยแลนด์ 4.0 ได้เผยรายงานพฤติกรรมเด็กไทยในปัจจุบัน พบว่าใช้เวลาอยู่กับการท่องโลกอินเทอร์เน็ตมากถึง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyber Bullying) สูงถึง 49% ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข้อมูลเท็จ การลุ่มหลงในภาพลักษณ์ เช่น ความหล่อ สวย รวย หรู การด่าทอสร้างความขัดแย้งเกลียดชัง และการตัดต่อสร้างภาพลวง เหล่านี้ได้กลายเป็นปัญหาซึมลึกในจิตใจของเด็ก ซึ่งส่งผลสะท้อนถึงความบกพร่องทางคุณธรรมจริยธรรม ด้านความกตัญญูต่อบุพการีและสังคม
บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) แบรนด์ที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้คนในสังคม ตระหนักถึงคุณค่าชีวิต คุณค่าความรัก และคุณค่าของมนุษย์ (Value of Life, Value of Love & Value of People) เล็งเห็นความสำคัญในการปลูกฝังให้เด็กได้รับการพัฒนาทั้งด้านทักษะความรู้ และด้านอารมณ์ อันเป็นรากฐานที่ดีของชีวิต ภายใต้รากฐานของครอบครัวที่เข้มแข็ง
ในปี 2559 บริษัทฯ ได้ริเริ่มแคมเปญ Fallow The Father : เราจะทำแบบในหลวง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยน้อมนำแนวพระราชดำริ และพระราชจริยวัตรในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปฏิบัติ โดยเฉพาะด้านความกตัญญู ความใฝ่รู้ และความพอเพียง ผ่านภาพยนตร์โฆษณาชุด “เหตุผล” และ “Follow the Father”
ขณะเดียวกันได้สานต่อแคมเปญดังกล่าวไปยังกลุ่มเยาวชนคน Gen Z ซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้และสนใจโซเชียลมีเดียสูง รวมถึงกลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครองที่เป็นบุคคลใกล้ชิดกับเด็ก ผ่านกิจกรรม “Inspiring Talk : พูดสร้างแรงบันดาลใจ” ในรูปแบบการถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ชีวิตจริง โดยในปี 2561 ดำเนินกิจกรรมภายใต้แนวคิด “ให้รักดูแลชีวิต” เพื่อสร้างสายใยความรัก ความเข้าใจภายในครอบครัว อันเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญอันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของสังคม
นายไชย ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “Inspiring Talk เป็นกิจกรรมสร้างทัศนคติเชิงบวกด้านต่างๆ ขณะเดียวกันก็ทลายกำแพงความรู้สึกและทัศนคติเชิงลบระหว่างพ่อแม่ลูก เพื่อสร้างความเข้าใจในคุณค่าของความรักที่แท้จริงจากภายในครอบครัว เพื่อต่อสู้กับด้านมืดของ Digital Disruption ด้วยการใช้ความรักเป็นพื้นฐาน หรือ Disrupt with Love อันจะเสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง เมื่อครอบครัวเข้มแข็ง เด็กก็จะมีภูมิคุ้มกันจากภัยบนโลกออนไลน์ และภัยสังคมอื่นๆ”
ที่ผ่านมา ไทยประกันชีวิตได้ดำเนินกิจกรรม Inspiring Talk ไปแล้วรวม 6 แห่ง ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้แก่ รร.กุนนทีรุทธารามวิทยาคม รร.อัสสัมชัญศึกษา รร.นวมินทราชินูทิศ (สตรีวิทยา2) รร.เศรษฐบุตรบำเพ็ญ รร.อัสสัมชัญ ศรีราชา จ.ชลบุรี และรร.นารีวิทยา จ.ราชบุรี โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 3,907 คน ซึ่งจากการประเมินผลด้วยแบบสอบถาม พบว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความพึงพอใจและได้รับแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตและครอบครัว โดยบริษัทฯ มีแผนขยายพื้นที่การจัดกิจกรรมต่อเนื่องอีกด้วย”
ในโลกยุคดิจิทัลที่มีความก้าวล้ำไปทุกขณะ ความเจริญรุดหน้าของเทคโนโลยีสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงใหม่ให้กับมนุษย์อย่างไม่หยุดยั้ง แต่สิ่งสำคัญที่เทคโนโลยีไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปจากใจมนุษย์ได้ นั่นคือ “ความรัก”
ข่าวเด่น