โซนิค อินเตอร์เฟรท "SONIC" เข้าเทรดในตลาด MRI วันแรก ราคาพุ่งขึ้นเหนือจอง 9.74% ประะเดิมเปิดตลาดที่ 2.14 บาท จากราคา IPO 1.95 บาท ด้าน บล.ทิสโก้ มองราคาเหมาะสมของ SONIC ที่ 2.60 บาท ขณะที่ บล.เมย์แบงก์ ให้ราคาเหมาะสม 2.80 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ต.ค.2561) บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC ซึ่งเป็นบริษัทประกอบธุรกิจให้บริการการจัดการระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจร ทั้งการเป็นตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และการขนส่งสินค้าในประเทศ โดยมีทั้งบริการการจัดการขนส่งสินค้าทางทะเล, ทางอากาศ, ทางบก และขนส่งสินค้าข้ามเขตแดน ได้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม อาร์ ไอ เป็นวันแรก โดยทันทีที่เปิดเทรดราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 2.14 บาท เพิ่มขึ้น 0.19 บาท จากราคาไอพีโอ 1.95 บาท หรือเหนือราคจอง 9.74% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 72.18 ล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ประเมินมูลค่าที่เหมาะสมเบื้องต้นของ SONIC อยู่ที่ 2.60 บาท สำหรับปี 2019F อ้างอิง PER ที่ 30 เท่า โดยเทียบจากค่า PER หุ้นที่มีธุรกิจใกล้เคียงกันเช่น WICE และ III โดยบล.ทิสโก้มองว่าความเสี่ยงสำคัญของ SONIC คือ การพึ่งพาบุคลากรที่มีความชำนาญ และความสัมพันธ์ของลูกค้าที่ดีเป็นหลัก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีคู่แข่งที่เป็นตัวแทนหลายราย แต่ SONIC มีความได้เปรียบที่มีประสบการณ์ทำงานที่ยาวนานกว่า 22 ปี นอกจากนี้ ยังต้องระวังผลของ Dilution Effect ที่มาจากการใช้สิทธิของ ESOP ประมาณ 5.2% ที่มีราคาใช้สิทธิที่ราคา IPO โดยจะใช้สิทธิได้ครั้งแรกในอีก 2 ปีข้างหน้าและมีความเสี่ยงจากการค้าโลกที่ชะลอตัวจากผลของ Trade War ขณะที่ บล.เมย์แบงก์ฺ กิมเอ็ง มองราคาที่เหมาะสมอยู่ที่ 2.80 บาท
โดยก่อนหน้านี้ ดร.สันติสุข โฆษิอาภานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) กล่าวแสดงความมั่นใจว่าหุ้นของบริษัทจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ขณะเดียวกัน บริษัทมีนโยบายสร้างการเติบโตภายหลังจากการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เนื่องจากบริษัท มีแผนลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการจัดการระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าและโอกาสการเติบโตจากปัจจัยบวกจากภาคการส่งออกของไทยที่ขยv,ายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับแผนลงทุนครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ลงทุนเพิ่มจำนวนรถบรรทุกหัวลาก หางลากและรถบรรทุกเพื่อขยายการให้บริการธุรกิจขนส่งทางบกและการขนส่งข้ามชายแดน (Cross-border transport) ให้มีความครอบคลุมกว้างขวางมากยิ่งขึ้น 2.ลงทุนปรับปรุงอาคารและพื้นที่ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าให้มีความทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสินค้าและความรวดเร็วในการขนส่งและการให้บริการ
แล 3.ซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์เพื่อดำเนินสาขาแหลมฉบังเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าเช่าในระยะยาว และสุดท้ายจะลงทุนพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“การลงทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจัดการระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจรให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการนำเสนอสินค้าและบริการที่ครบวงจรแบบ One Stop Service และผลักดันให้ SONIC เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อก้าวสู่ผู้นำธุรกิจด้านโลจิสติกส์และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน” ดร.สันติสุข กล่าว
ข่าวเด่น