เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เอเปคเตือนสมาชิกรับมือความท้าทายใหม่



นายลวรณ  แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล  ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 25 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 16 - 17 ตุลาคม 2561 ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี  โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรัฐเอกราชปาปัวนิวกินี (นาย Charles Abel) เป็นประธาน พร้อมกับผู้แทนระดับสูงจากสมาชิกเอเปค 20 เขตเศรษฐกิจ (ยกเว้นสาธารณรัฐเปรู) และผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  (International Monetary Fund) กลุ่มธนาคารโลก (World BankGroup) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB)  เป็นต้นเข้าร่วมการประชุมนี้ด้วย โดยแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคประจำปี 2561 คือ การสร้างโอกาสอย่างครอบคลุม เพื่อเปิดรับอนาคตทางดิจิทัล (Harnessing Inclusive Opportunities, Embracing the Digital Future)  โดยมีการหารือที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคนับแต่เดือนตุลาคม 2560 เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตอย่างเข้มแข็ง แต่ในช่วงระยะ6 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ อาทิ ความเปราะบางทางการเงิน ระดับหนี้ภาครัฐและภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น ความตึงเครียดทางการค้าและการเมือง ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความไม่เท่าเทียมและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เป็นต้น ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเปคยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดย ADB และ APEC Policy Support Unit คาดว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเปคในปี 2561จะขยายตัวร้อยละ 3.7 – 4.1 จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญโดยที่ประชุมสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง และการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างศักยภาพในการเติบโตอย่างทั่วถึงและมีส่วนร่วมเพื่อที่จะยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลาง 

2. ในการประชุม APEC FMM ครั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือใน 5ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
2.1 การเร่งรัดการลงทุนและระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Accelerating Infrastructure Development and Financing)โครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพมีความสำคัญต่อการยกระดับการผลิต ส่งเสริมการเชื่อมโยง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างงาน และเสริมสร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมและทั่วถึง ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเปคเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนงบประมาณเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดย Global Infrastructure Hub (GIH) ได้ประมาณการว่า ในระหว่างปี 2563 – 2568 ภูมิภาคเอเปคมีความต้องการเงินทุนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉลี่ย เป็นจำนวนถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ช่องว่างด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่นี้สามารถจัดการได้ด้วยการเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยการกระจายเงินลงทุนผ่านแหล่งเงินทุนระยะยาว ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน รวมทั้งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อดึงดูดการลงทุน สนับสนุนการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถสร้างผลตอบแทน (Bankable)และพัฒนาโครงสร้างทางการเงินเพื่อที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนสถาบันในระยะยาว

2.2 การสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน(Advancing Financial Inclusion)การเข้าถึงบริการทางการเงินเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมและทั่วถึง ซึ่งจะช่วยยกระดับการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของประชาชนและภาคธุรกิจ และสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดีของประชาชน นอกจากนี้ ที่ประชุมสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคให้ความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการใช้นวัตกรรมด้านการเงินเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง
 
2.3 การผลักดันความร่วมมือด้านภาษีและความโปร่งใส (Fostering International Tax Cooperation and Transparency) ความร่วมมือด้านภาษีระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความชัดเจน ความโปร่งใส และความเป็นธรรมของระบบภาษีระหว่างประเทศ โดยที่ประชุมสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำ (Minimum Standards) ภายใต้แผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) ของOECDร่วมกับกลุ่มประเทศสมาชิก G20 โดยการเข้าร่วมใน Inclusive Framework รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีตามมาตรฐานสากลเพื่อความโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
 
2.4 การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบู(Implementing the Cebu Action Plan) แผนปฏิบัติการเซบูเป็นแผนงานสำหรับกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (ปี 2558 - 2567) เพื่อเสริมสร้างให้ภูมิภาคเอเปคมีการรวมกลุ่มทางการเงินที่เพิ่มขึ้น โปร่งใส มั่นคง และเชื่อมโยงกันยิ่งขึ้นโดยสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคเริ่มดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบูภายในปี 2561-2563 โดยให้เป็นไปตามความเหมาะสมและบริบทภายในของแต่ละเขตเศรษฐกิจโดยที่ประชุมรับทราบการมีส่วนร่วมของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council) ในการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเซบู
 
2.5 การบริหารการเงินและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ(Disaster Risk Financing and Insurance) ที่ประชุมตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบการจัดการทางการเงินเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเปค และยินดีที่คณะทำงานด้านการบริหารการเงินและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Working Group on Disaster Risk Financing and Insurance) ร่วมกับ WBG และ OECD ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือสมาชิกเอเปคในการรับมือกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและการเงินที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากนี้ มีการจัดทำรายงานเกี่ยวกับกรอบการดำเนินงานด้านการจัดทำประกันภัยสำหรับสินทรัพย์สาธารณะเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดย WBG รวมถึงรายงานเกี่ยวกับการจัดการกับภาระหนี้สินของรัฐบาลอันเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติโดย WBG และ OECD

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังรัฐเอกราชปาปัวนิวกินีได้ริเริ่มให้มีการจัดทำแนวทางพัฒนาศักยภาพ (Capacity Building Package) ของสมาชิกเอเปคในด้านต่าง ๆ ได้แก่  การเร่งรัดการลงทุนและการระดมทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน และการผลักดันความร่วมมือด้านภาษีและความโปร่งใส  โดยจะรวบรวมกรณีศึกษา(Case Studies) และแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practices) ของสมาชิกเอเปคในการดำเนินงานด้านต่างๆ รวมถึงจัดสัมมนาเชิงนโยบายเพื่อให้สมาชิกเอเปคได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ระหว่างกันด้วย
    
3. ในระหว่างการประชุม APEC FMM รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคได้มีการหารือถึงกลยุทธ์ทางการคลังในยุคดิจิทัล (Public Finance Strategies in the Digital Age) โดยปัจจุบันสมาชิกเอเปคให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การสนับสนุนให้ภาครัฐจ่ายเงินให้แก่ประชาชนโดยตรงผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงิน เป็นต้นทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงกลยุทธ์ทางการคลังเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในภูมิภาค เช่น ความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้อายุ เป็นต้น  โดยสนับสนุนให้ดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสทางการคลังผ่านการจัดทำกลยุทธ์ทางการคลังระยะปานกลาง (Medium-Term Fiscal Strategies) และการรักษาระดับหนี้สาธารณะภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคได้หารือกับผู้แทนระดับสูงจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council) เกี่ยวกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ซึ่งที่ประชุมสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคเอเปคผ่านการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน(Public Private Partnership) พร้อมทั้งพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งยังได้เน้นย้ำถึงบทบาทของFintechในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น โดยจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ต.ค. 2561 เวลา : 16:59:46
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 3:48 am