เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ดัชนีรายได้เกษตรกรกันยายน ยังทรงตัวระดับต่ำ


นางสาวจริยา สุทธิไชยา  เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนกันยายน 2561 ลดลงจากเดือนกันยายน 2560 ร้อยละ 4.04 โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนกันยายน 2561 ลดลงจากเดือนกันยายน 2560 ร้อยละ 6.00 สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีสต๊อกน้ำมันปาล์มคงเหลือเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความต้องการใช้บริโภคและอุตสาหกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง ลองกอง เงาะ ราคาลดลงเนื่องจากเป็นผลผลิตจากภาคใต้ ซึ่งอยู่ในช่วงที่ผลผลิตออกมากส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดกระจุกตัว  ไก่เนื้อ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตยังคงออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับการบริโภคชะลอตัว


สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแป้งมัน และลานมันสำปะหลัง ลำไย ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลงเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอความต้องการ  และ สุกร ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงประกอบกับผลผลิตเนื้อสุกรลดลงจากนโนบายควบคุมการผลิตเนื้อสุกรที่เริ่มได้ผล

ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนกันยายน 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2560 ร้อยละ 2.08 สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ลองกอง ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ส่วนสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ สับปะรด มันสำปะหลัง สุกร และ กุ้งขาวแวนนาไม

หากมองแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนตุลาคม 2561 คาดว่าเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2560 ร้อยละ 0.19 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.78 โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ยางพารา เงาะ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และไก่เนื้อ ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลงร้อยละ 1.56 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สุกร ไก่เนื้อ และ กุ้งขาวแวนนาไม  ด้านสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนตุลาคม 2561 ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเป็นช่วงเดือนที่เก็บเกี่ยวผลผลิตมาก ส่งผลให้ผลผลิตยังคงออกสู่ตลาดมากอย่างต่อเนื่อง และยางพารา เนื่องจากผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากตามฤดูกาลเก็บเกี่ยว

อย่างไรก็ตาม เดือนพฤศจิกายน 2561 ดัชนีรายได้เกษตรกร คาดว่าอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว เนื่องจากดัชนีราคาคาดว่าจะทรงตัวต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอาทิ ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา  ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไข่ไก่

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ต.ค. 2561 เวลา : 16:40:34
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 3:37 am