ปตท.สผ. เผยผลการดำเนินธุรกิจในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 เป็นไปตามเป้าหมาย มีกำไรสุทธิที่ 315 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สรอ.) (เทียบเท่า 10,401 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 % จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มสัดส่วนในแหล่งบงกชในไตรมาสที่ผ่านมา พร้อมเร่งพัฒนาโครงการ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ (M&A) และตั้งเป้าลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง
ทั้งนี้ ผลประกอบการของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ (recurring net income) อยู่ที่ 292 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 9,664 ล้านบาท) จากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ปรับตัวสูงเป็น 47.67 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ จาก 38.78 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ประกอบกับปริมาณการขายเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 304,940 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จาก 298,139 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ มีกำไรจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (non-recurring items) รวม 23 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 737 ล้านบาท) ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิ (net income) 315 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 10,401 ล้านบาท) จากขาดทุนสุทธิจำนวน 264 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 8,682 ล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนนั้น ปตท.สผ. มีรายได้รวม 3,960 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 127,434 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จาก 3,252 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 111,430 ล้านบาท) เทียบกับช่วงเดียวของปีก่อนหน้า ซึ่งมีแรงสนับสนุนหลักมากจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ย และปริมาณขายเฉลี่ยที่สูงขึ้น โดยมีกำไรสุทธิรวม 851 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 27,372 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งมีกำไร 305 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 11,138 ล้านบาท) เนื่องจากมีการรับรู้รายการด้อยค่าสินทรัพย์
ในส่วนของสถานะการเงิน สำหรับ 9 เดือน ปตท.สผ. สามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ถึง 2,264 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 72,695 ล้านบาท) โดยมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดถึง 3,804 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 123,273 ล้านบาท) ในขณะที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพียง 0.17 เท่า จึงทำให้ ปตท.สผ. มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมรองรับแผนการลงทุนตามแผนงาน รวมถึงรองรับค่าใช้จ่ายเพื่อเร่งพัฒนาโครงการต่าง ๆ การเข้าซื้อกิจการ (M&A) และต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของบริษัท
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จจากการดำเนินแผนกลยุทธ์ในการเน้นการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์และมีความเสี่ยงต่ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนผ่านความสำเร็จในการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในแหล่งบงกชซึ่งเป็นโครงการหลักของ ปตท.สผ. ส่งผลให้ปริมาณการขายและกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นทันที และเรายังคงมุ่งมั่นในการมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการ และขยายการลงทุนในแหล่งสำรวจปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูง ทั้งในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง รวมทั้ง ปรับตัวเพื่อรับมือกับภาพธุรกิจพลังงานที่มีความท้าทายทางธุรกิจที่ด้วยแนวทาง Transformation เพื่อให้องค์กรมีความพร้อม และเดินหน้าต่อยอด การลงทุน เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ E&P ที่มีตลาดรองรับ เช่น Gas to Power ในขณะเดียวกันก็ศึกษาโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ และพลังงานทางเลือก”
สำหรับการประมูลแหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณนั้น ปตท.สผ. ได้ยื่นประมูลเองในแหล่งบงกช ส่วนแหล่งเอราวัณ ปตท.สผ. ได้เข้าร่วมประมูลกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ลงทุนในแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย จึงมีความเข้าใจพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างดี โดย ปตท.สผ. มีความพร้อมในการเป็นผู้ดำเนินการในทั้งสองแหล่ง ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการประมูลในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทยังได้เร่งรัดการพัฒนาโครงการที่อยู่ระหว่างรอการตัดสินใจขั้นสุดท้ายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญตามแผนกลยุทธ์ของ ปตท.สผ. ที่มีความคืบหน้าอย่างมากทั้งในการเตรียมการก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบก และ การสรุปสัญญาซื้อขายระยะยาว (Sales and Purchase Agreement: SPA) กับผู้ซื้อรายต่าง ๆ เพื่อผลักดัน การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision: FID) ตามเป้าหมายภายในครึ่งแรกของปี 2562 โดยผู้ร่วมทุนในโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ได้มีการลงนามเพิ่มในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวกับบริษัท โทโฮกุ อิเล็กทริก พาวเวอร์ (Tohoku Electric Power) ในปริมาณ 280,000 ตันต่อปี นอกเหนือจากที่มีการลงนามกับบริษัท เอเล็กทริซิเต้ เดอ ฟรองซ์ (Électricité de France, S.A.) หรือ EDF ในปริมาณ 1,200,000 ตันต่อปี โดยทั้งนี้คาดว่าโครงการจะสามารถเริ่มการผลิตได้ภายในปี 2566
ข่าวเด่น