นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะโฆษกกรมฯ ชี้แจงถึงสาเหตุยังไม่ปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ ว่า หลังจากกรมได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพการให้บริการรถแท็กซี่ ควบคู่กับการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนและค่าครองชีพ เพื่อให้ผู้ขับรถแท็กซี่สามารถประกอบอาชีพได้
โดยเมื่อปี 2557 กรมฯกำหนดแนวทางการปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ โดยให้ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ของอัตราค่าจ้างเดิม แต่กำหนดการปรับเป็น 2 ระยะ สำหรับระยะที่ 1 ให้ปรับค่าโดยสารไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2557 ในอัตราร้อยละ 8 ส่วนการปรับค่าโดยสารระยะที่ 2 จากที่ติดตามประเมินผลพบว่า คะแนนความพึงพอใจผ่านแอปพลิเคชัน DLT Check in น้อยกว่า 70 % นอกจากนั้นยังมีการร้องเรียนผ่านศูนย์ 1584 อาทิ ปฏิเสธผู้โดยสาร ไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร จึงระงับการปรับอัตราค่ารถแท็กซี่ไว้จนกว่าปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการให้บริการให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน
ทั้งนี้จากสถิติการร้องเรียนรถแท็กซี่ผ่านสายด่วน 1584 ในปี 2561 (1 ต.ค.2560 – 30 ก.ย.2561) ยังมีเรื่องร้องเรียนจำนวน 48,223 เรื่อง ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา (ปี 2559 มีเรื่องร้องเรียน 43,804 เรื่อง ,ปี 2560 มีเรื่องร้องเรียน 43,254 เรื่อง) โดย 5 อันดับเรื่องร้องเรียน คือ ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร , แสดงกิริยาไม่สุภาพ, ขับรถประมาทหวาดเสียว, ไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร และไม่ส่งผู้โดยสารตามที่ตกลง
นายกมล กล่าวอีกว่า กรมฯตระหนักถึงความจำเป็นเพื่อให้การพัฒนาคุณภาพการให้บริการแท็กซี่อย่างยั่งยืน จึงได้จ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษาปัญหาความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการแท็กซี่ รวมทั้งโครงสร้างต้นทุนการประกอบการ และอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ซึ่งได้ส่งมอบผลการศึกษาแล้ว โดยขณะนี้กรมขนส่ง อยู่ระหว่างพิจารณาผลและจัดทำสรุปนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาต่อไป
ข่าวเด่น