กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นการส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเน้นให้ความสำคัญในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตข้าวคุณภาพดี การเพิ่มสมรรถนะในการบริหารจัดการการผลิตข้าวของชุมชนแบบครบวงจรตั้งแต่การผลิต การจัดการคุณภาพ และการจัดการด้านการตลาดเพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ศึกษาเรื่อง “ต้นทุนการผลิต ประสิทธิภาพเชิงเทคนิคของการผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ กรณีศึกษาพื้นที่แปลงใหญ่ข้าวในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม” ในปีงบประมาณ 2561
นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า การศึกษาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตประสิทธิภาพเชิงเทคนิคของการผลิตข้าวในพื้นที่แปลงใหญ่ และนอกพื้นที่แปลงใหญ่ ให้เป็นแนวทางในการเสนอแนะมาตรการ นโยบาย ในการบริหารจัดการการผลิตข้าวแบบนาแปลงใหญ่
สำหรับโครงการเกษตรแปลงใหญ่ กระทรวงเกษตรฯ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2559-2560 ใน 4 จังหวัด (ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม) รวม 25,313 ราย แบ่งเป็น ขอนแก่น 12 อำเภอ เกษตรกร 12,737 ราย กาฬสินธุ์ 10 อำเภอ เกษตรกร 2,608 ราย มหาสารคาม 10 อำเภอ เกษตรกร 3,473 ราย และร้อยเอ็ด 20 อำเภอ เกษตรกร 6,495 ราย
จากผลการศึกษา พบว่า ต้นทุนและผลตอบแทนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีต้นทุนเฉลี่ย 3,755 บาท/ไร่ เกษตรกรมีผลตอบแทนเฉลี่ย 4,165 บาท/ไร่ เกษตรกรมีรายได้หลังหักต้นทุน 410 บาท/ไร่ ในขณะที่ต้นทุนและผลตอบแทนของเกษตรกรนอกพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีต้นทุนเฉลี่ย 4,478 บาท/ไร่ เกษตรกรมีผลตอบแทนเฉลี่ย 3,798 บาท/ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรขาดทุนอยู่ 680 บาท/ไร่ สำหรับการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการผลิตข้าวเชิงเทคนิค จะวัดจากปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิต ได้แก่ แรงงานคน แรงงานเครื่องจักร ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี ปริมาณการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืช และศัตรูพืช ผลจากการศึกษาพบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังมีค่าส่วนเกินปัจจัยการผลิตในส่วนของเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งแรงงานสูง และค่าประสิทธิภาพการผลิตสูงกว่าเกษตรกรนอกโครงการเพียงเล็กน้อย
ดังนั้น ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เครื่องจักร เครื่องทุนแรงทางการเกษตรให้มากขึ้น อาทิ รถเกี่ยว เครื่องพ่นปุ๋ย การปลูกโดยใช้เครื่องหยอดเมล็ด ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ และช่วยทดแทนแรงงานของครัวเรือนที่ค่อนข้างสูงอายุ และมีจำนวนน้อย รวมทั้งควรเพิ่มองค์ความรู้ในด้านต่างๆ แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น เช่น การวางแผนการผลิตจนถึงการจำหน่ายผลผลิต การบริหารจัดการในรูปแบบของกลุ่มให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่และจำนวนสมาชิก ตลอดจนการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกรได้ นอกจากนี้ควรเน้นให้ความรู้ด้านการวางแผนการผลิต วิธีเพิ่มคุณภาพผลผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า การใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงาน และการวางแผนการจำหน่ายสินค้าล่วงหน้าซึ่งจะช่วยลดปัญหาสินค้าล้นตลาด ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจผลการศึกษา หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่ม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 โทร. 043 261 513 ต่อ 17 หรืออีเมล zone4@oae.go.th
ข่าวเด่น