เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
DITP ชี้โอกาสสงครามการค้าสหรัฐ - จีน หวังดึงฐานการผลิตจีนมาไทย


กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ชี้โอกาสผู้ผลิตสินค้าไทยที่มีศักยภาพ เร่งพัฒนาตนเองให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้ประกอบการสหรัฐที่กำลังมองหาแหล่งผลิตใหม่แทนตลาดจีน หลังสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 10% และเตรียมปรับเพิ่มเป็น 25% ในปีหน้า

          
นางสาวบรรจงจิตต์  อังศุสิงห์  อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี พบว่าหลังการประกาศขึ้นภาษีขาเข้าของสหรัฐ ที่เป็นตัวจุดชนวนสงครามการค้ากับจีน และส่งผลกระทบต่อนานาประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการสหรัฐจำนวนมากพยายามย้ายแหล่งผลิตออกจากจีนทั้งที่มีการเข้าไปลงทุนเอง และที่ว่าจ้างให้ผลิต สำหรับผู้ประกอบการสหรัฐที่ว่าจ้างผลิตนั้นอาจย้ายแหล่งผลิตได้ง่ายกว่ากลุ่มที่เข้าไปลงทุนผลิตในจีนเอง และบางส่วนได้ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกแหล่งผลิตใหม่แล้ว เว้นแต่กลุ่มที่มีแหล่งสินค้าผูกติดกับจีนหรือกำลังอยู่ระหว่างยื่นขอรับการยกเว้นจากรัฐบาล โดยผู้ประกอบการสหรัฐจำนวนมากกำลังศึกษาหาแหล่งผลิตทางเลือกใหม่จากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงเม็กซิโกที่ไม่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มจากสหรัฐ เพราะวัตถุประสงค์หลักของการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนก็เพื่อลดปริมาณการนำเข้าสินค้าจากจีนลง จึงไม่น่าจะยอมยกเว้นให้มากนัก
          
“ในปี 2019 หากสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 25% ผู้ค้าปลีกบางส่วนยืนยันว่าคงต้องผลักภาระไปให้ผู้บริโภคแน่นอน หากไม่ได้รับการยกเว้น ในขณะที่ผู้ผลิตสินค้าบางรายการเริ่มผลักภาระให้ผู้บริโภคแล้ว เช่น กระเป๋าเดินทางและกระเป๋าใส่อุปกรณ์กีฬาที่ขายในสหรัฐ ซึ่งมีแหล่งผลิตจากจีนถึง 70% หรือสินค้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ต้องอาศัยแหล่งผลิตจากจีนถึง 84% โดยผู้ผลิตสินค้ายืนยันว่าการย้ายฐานการผลิตเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประเทศอื่นๆไม่มีกำลังการผลิตหรือความสามารถการผลิตเทียบเท่ากับจีน นอกจากนี้ยังมีจักรยานที่นำเข้าจากจีนถึง 92% เนื้อปลานิลแช่แข็ง 85% ผู้ประกอบการชาวสหรัฐส่วนใหญ่กำลังมองหาแหล่งผลิตสินค้าและวัตถุดิบจากประเทศอื่น แต่ยังต้องคำนึงถึงสัดส่วนกำไรที่น้อยลงและความเชี่ยวชาญในกิจการนั้นๆด้วย” นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าว

นางสาวบรรจงจิตต์  กล่าวเสริมอีกว่า สินค้าที่กำลังเข้าแถวรอการปรับอัตราภาษีขึ้นจาก 10% เป็น 25 % ในปีหน้าแบ่งตามหมวดหมู่ใหญ่ๆได้แก่ สารอินทรีย์เคมี ปลา สารเคมี ฝ้าย กระดาษ อุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบเครื่องจักรยานยนต์ อุปกรณ์ปฏิกรณ์นิวเคลียร์ อาหารพืชผัก รวมกันแล้วกว่า 5,745 รายการชนิดสินค้า ซึ่งหลายชนิดสินค้าในรายการนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ และถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพต้องเร่งพัฒนาตนเองให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้ประกอบการสหรัฐ ที่ยังมองหาแหล่งผลิตใหม่มาทดแทนแหล่งผลิตจากจีน

หากสหรัฐขยายกรอบการเพิ่มภาษีขาเข้าสำหรับสินค้าจีนไปยังสินค้าอื่น เช่น รองเท้าเด็ก เสื้อผ้าเด็ก ที่มีมูลค่าถึง 2.67 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ประกอบการสหรัฐก็ต้องเร่งหาแหล่งผลิตสินค้าใหม่ ซึ่งสำหรับบางรายที่ลงทุนและใช้แหล่งการผลิตจากจีนมาเป็นเวลานานกว่า 10ปี การจะย้ายฐานการผลิตสินค้าต้องใช้เวลานาน หรืออาจไม่สามารถย้ายฐานการผลิตได้เลย หากมีการขยับภาษีนำเข้าเป็น 25% บริษัทเหล่านี้
ก็จำเป็นต้องผลักภาระให้ผู้บริโภครับไว้ในที่สุด

นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าได้ไม่นาน  แต่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการวางแผนจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อพลิกวิกฤตสงครามการค้าเป็นโอกาสของสินค้าไทย โดยได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ศึกษาโอกาสที่ไทยจะเข้าไปทดแทนในการผลิตสินค้าที่จีนส่งไปสหรัฐไม่ได้ และสินค้าที่สหรัฐส่งไปจีนไม่ได้ รวมทั้งหาตลาดศักยภาพใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง รวมทั้งฝากถึงผู้ประกอบการไทยทั้งรายย่อยอย่าง SME และ Startupจนถึงรายใหญ่ พัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าของไทย เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก เพราะเศรษฐกิจของไทยยังคงพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ต.ค. 2561 เวลา : 15:45:08
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 5:48 am