เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐ-เอกชนลงทุน EEC ต่อเนื่อง


การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  เป็นโครงการที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ในต้นปีหน้า  เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน


โดยนายณัฐพร  จาตุศรีพิทักษ์   ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ครม. เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี นอกสถานที่ จ.เชียงราย ว่า  ที่ประชุม มีมติอุมัติ โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จำนวน 4 โครงการ   ประกอบด้วย โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน MRO อู่ตะเภา วงเงินลงทุน 6,333 ล้านบาท   โดยมอบให้กองทัพเรือ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และให้บริษัท การบินไทย จำกัด มหาชนร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ในการบริหารจัดการ ระยะเวลาสัมปทานไม่เกิน 50 ปี

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินลงทุน 17,768 ล้านบาท ซึ่งจะลงทุนแบบ พีพีพี เน็ตครอส โดยให้รัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนลงทุนด้านการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์การซ่อมบำรุง ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบังเฟส3 วงเงินลงทุน 47,060 ล้านบาท จะดำเนินโครงการในรูปแบบพีพีพี เน็ตครอส เช่นกัน โครงการสุดท้าย เป็นโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่3 ซึ่งวงเงินลงทุนจะมาจากรายได้ของการนิคมอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ คาดว่าทั้ง 4 โครงการจะได้เอกชนผู้ลงทุนภายในเดือนกุมภาพันธุ์ ปี2562  ซึ่งจะสอดคล้องกับ โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)  ที่ได้ประกาศร่างเอกสารประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง หรือ TOR ไปแล้ว อย่างไรก็ตามหากรวมทั้ง 5 โครงการที่ ครม.อนุมัติแล้ว มีมูลค่า การลงทุน รวม 650,000 ล้านบาท จากการศึกษาแล้วพบว่าจะทำให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 820,000 ล้านบาท ผลตอบแทนทางการเงิน 560,000 ล้านบาท โดยทั้งหมดรัฐลงทุนประมาณ 200,000 ล้านบาท ผลตอบแทนทางการเงินของภาครัฐที่ประมาณการไว้ 450,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 40,000 คนต่อปี
 
ขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็เปิดเผยข้อมูลว่า  บริษัทตั้งใหม่ในพื้นที่EECช่วง 9 เดือนปี 61 ยังคงร้อนแรง มีจำนวน 5,472 ราย  เพิ่มขึ้น 6.96%  มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 1.46 หมื่นล้านบาท  เพิ่มขึ้น 7.18%   โดยประเภทธุรกิจที่มีการจดทะเบียนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่  อสังหาริมทรัพย์ 950 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 3,359.35 ล้านบาท  ก่อสร้างอาคารทั่วไป 457 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 643.55 ล้านบาท  และภัตตาคาร/ร้านอาหาร 214 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 459.31 ล้านบาท         

และกรมฯ คาดว่า ยอดการจดทะเบียนจัดตั้งในพื้นที่EECปี 2561 จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งเป็นผลดีจากนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมลงทุนในEECอย่างต่อเนื่อง โดยให้ให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ส่งผลให้มีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้ามาจัดตั้งธุรกิจ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง  จากการที่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในEECเพิ่มขึ้น และมีประชากรแรงงานเข้ามามากขึ้น ทำให้มีความต้องการด้านที่อยู่อาศัย และยังมีการลงทุนในด้านร้านอาหาร ที่ขยายตัวตามจำนวนประชากร รวมถึงการลงทุนในธุรกิจภาคบริการเพิ่มมากขึ้น เช่น โลจิสติกส์ เป็นต้น

สำหรับการลงทุนของต่างชาติในพื้นที่EEC  ในปัจจุบัน  ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งในไทย (ต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49.99%) มีมูลค่า 6.98 แสนล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วน 38.48%ของมูลค่าทุนทั้งหมด  โดยมีญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนสูงสุด  3.60 แสนล้านบาท สัดส่วน 51.59%รองลงมา คือ จีน 4.37 หมื่นล้านบาท  สัดส่วน 6.27%สิงคโปร์ 3.61 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 5.18%สหรัฐ 2.68 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 3.85%และเกาหลีใต้ 1.97 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 2.83%ขณะที่จังหวัดที่ต่างชาติลงทุนสูงสุด ได้แก่ ระยอง 3.8 แสนล้านบาท ชลบุรี 2.46 แสนล้านบาท และฉะเชิงเทรา 7.12 หมื่นล้านบาท

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ต.ค. 2561 เวลา : 20:52:32
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 5:33 am