ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 61 อยู่ที่ 1.2% โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จะยังคงขยายตัวได้สูงกว่ากรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1.0%
อนึ่ง วันนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค.61 อยู่ที่ 1.23% ชะลอลงจาก 1.33% ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 1.15% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงเป็น 0.75% จาก 0.80% ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.72%
SCB EIC ระบุว่า สำหรับดัชนีราคาพลังงาน จะเริ่มเห็นผลจากปัจจัยฐานสูงของราคาน้ำมันดิบโลกชัดเจนขึ้นในระยะข้างหน้า ทำให้อัตราการเติบโตแบบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนไม่สูงเท่าช่วงที่ผ่านมา ส่วนราคาอาหารสด อาจยังได้รับผลกระทบจากผลผลิตทางการเกษตรที่ยังคงมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากผลผลิตทางการเกษตรที่ออกมามากอาจเริ่มลดลงในระยะต่อไป เพราะการขยายตัวของผลผลิตทางการเกษตรในระยะหลังเริ่มมีแนวโน้มชะลอลง โดยจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผลผลิตทางการเกษตรในเดือน ต.ค.61 ขยายตัวที่ 1.78% ชะลอลงจากในไตรมาส 3/61 ที่ขยายตัว 4.76% และครึ่งปีแรกที่ขยายตัวถึง 12.35%
พร้อมกันนี้ ได้ประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งปี 61 อยู่ที่ 0.7% โดยคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่กำลังการฟื้นตัว แต่ทั้งนี้ อัตราเร่งของการขยายตัวอาจยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก สอดคล้องกับกำลังซื้อของครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งต้องจับตาแนวโน้มรายได้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิดต่อไปหลังแนวโน้มรายได้เกษตรกรขยายตัวต่ำลงในช่วงที่ผ่านมา โดยในเดือน ต.ค.ขยายตัวได้เพียง 0.19% หลังจากที่หดตัว 4.04% ในเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกันแนวโน้มรายได้ค่าจ้างนอกภาคเกษตรยังถือว่าขยายตัวได้ในระดับที่ไม่สูงมาก โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวได้ที่ 2.4%
สำหรับทิศทางในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ทำให้มุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ออกมาในเดือน ต.ค.นี้ สะท้อนว่าปัจจัยอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ ยังคงเป็นไปตามเงื่อนไขการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
"อีไอซี มองว่า การพิจารณาตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะให้ความสำคัญกับพัฒนาการของปัจจัยสำคัญอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งสำหรับประเด็นนี้ต้องจับตาความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นจากสงครามการค้า และการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย ที่เริ่มมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยบ้างแล้วในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ความเสี่ยงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจในประเทศที่อาจจะยังไม่ได้ฟื้นตัวเข้มแข็งสะท้อนจากรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ยังไม่ได้ขยายตัวในระดับสูงมากนัก" บทวิเคราะห์ระบุ
ข่าวเด่น