ในวาระครบรอบ 75 ปี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ตอกย้ำศักยภาพและความสำเร็จการนำเทคโนโลยีวิศวกรรมเข้ามาสนับสนุนภาครัฐ และภาคธุรกิจ เดินหน้าเปิดงาน “วิศวกรรมแห่งชาติ 2561” (National Engineering 2018) งานสัมมนาวิชาการด้านวิศวกรรมและงานแสดงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี นวัตกรรรมวิศวกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผนึกกำลังผู้ร่วมแสดงสินค้าเทคโนโลยีวิศวกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมกว่า 100 ภายใต้แนวคิด “Engineering for Society; Smart Engineering, Smart Life, Smart Nation - วิศวกรรมอัจฉริยะ เพื่อชีวิตทันสมัย สู่ประเทศไทยแห่งอนาคต” เพื่อร่วมปฏิรูปประเทศ สู่สังคม ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา เสริมสร้างศักยภาพให้ทุกภาคส่วนมีส่วนช่วยยกระดับสังคมสู่สมาร์ทไลฟ์ สมาร์ทเนชั่น อย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
.jpg)
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวในพิธีเปิดงาน “วิศวกรรมแห่งชาติ 2561” ว่า จากแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศขับเคลื่อนด้วยปัญญาตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม จากกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าและความซับซ้อนสูง หรือ New S-Curve ด้วย 5 กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดย วสท. มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนความก้าวหน้าของวิชาชีพวิศวกรรม ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ สนับสนุนการวิจัย การปรับปรุงมาตรฐาน และสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่ออาชีพวิศวกรรมและสังคม
และในวาระครบรอบ 75 ปี วสท. เดินหน้าจัดงาน “วิศวกรรมแห่งชาติ 2561” (National Engineering 2018) ให้เป็นงานสัมมนาวิชาการ และแสดงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี นวัตกรรรมวิศวกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในไทย ภายใต้แนวคิด “Engineering for Society; Smart Engineering, Smart Life, Smart Nation - วิศวกรรมอัจฉริยะ เพื่อชีวิตทันสมัย สู่ประเทศไทยแห่งอนาคต” มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรรม ด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าของไทย ตลอดจนมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน พร้อมร่วมอัพเดทเทรนด์และเทคโนโลยีวิศวกรรมโลกผ่านงานสัมมนาในหัวข้อต่างๆ กว่า 89 หัวข้อ
.jpg)
สำหรับความยิ่งใหญ่ของงาน “วิศวกรรมแห่งชาติ 2561” ในปีนี้ ได้รับความร่วมมือจาก 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้ามาร่วมให้ความรู้ เพื่อยกระดับพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรรมที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ผ่านปาฐกถาพิเศษ ยุทธศาสตร์แห่งชาติตามนโยบายทั้ง 3 กระทรวง ซึ่งจะช่วยสะท้อนบทบาทความสำคัญของเทคโนโลยีวิศวกรรมในการช่วยผลักดันประเทศให้ขับเคลื่อนไปด้วยปัญญา และสามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกได้ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าการลงทุนไว้กว่า 5 ล้านล้านบาท อันจะส่งผลให้ระดับจีดีพี (GDP) ของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 ต่อปี ได้แก่
- แผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม ร่วมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Industry Transformation Thailand 4.0” โดย ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในวันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00-10.00 น.
- แผนยุทธศาสตร์คมนาคม ร่วมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์คมนาคม ยุทธศาสตร์สร้างชาติ” (Transforming Transportation) โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในวันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13.00-14.00 น.
- แผนยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล ร่วมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Digital Transformation ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ” โดย นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00-10.00 น.
ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม ประธานการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 กล่าวว่า “งานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 (National Engineering 2018) ในครั้งนี้ ถือเป็นปีที่ 13 ที่มีการจัดกันมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้ ได้รวบรวมผู้ร่วมแสดงสินค้าเทคโนโลยีวิศวกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากกว่า 100 ราย นำผลิตภัณฑ์เทคโนลยีจากหลากหลายสาขาอาชีพมาจัดแสดงอย่างครบครัน สำหรับไฮไลท์ในการจัดงาน วิศวกรรมแห่งชาติ 2561 คือการอัพเดทเทรนด์ความรู้ใหม่ๆ หลากหลายหัวข้อ เช่น นวัตกรรมความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร ซึ่งได้รับเกียรติจากวิศวกรชาวญี่ปุ่น มาบรรยายถึงการออกแบบโครงสร้างอาคาร ในสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ เช่น ภัยก่อการร้าย การวางระเบิด การวางเพลิง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย รวมทั้ง การให้ความรู้ด้านการป้องกันอัคคีภัยสำหรับอาคารขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน ตึกสูงจากสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ (National Fire Protection Association) ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
.jpg)
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอความรู้และการสัมมนาที่น่าสนใจ สำหรับวิศวกรและประชาชน อาทิ“Smart City” หรือ เมืองอัจฉริยะ เป็นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี เข้ามาเพิ่มความสะดวก สบาย ประหยัด และปลอดภัยให้กับการใช้ชีวิต ซึ่งประเทศไทย จะมีเมืองใหม่ที่เป็น Smart City ในแถบเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ทั้งระยอง ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี เป็นต้น ด้วยการเชื่อมโยงโลกดิจิทัลผ่านสมาร์ทโฟนกับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น แอพพลิเคชั่น PEA Hive Platform การสั่งเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า การสำรวจเส้นทางและการจราจร ระบบการซื้อขายผ่านออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนามากขึ้น เช่น นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต รถพลังงานไฟฟ้า (EV Car) การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงานมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรม การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (DATA Center and CLOUD Technology) เป็นต้น
ข่าวเด่น