เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กระทรวงคลังคาด "กฎหมายภาษีที่ดินฯ" ประกาศใช้ได้ปี 63 ยันไม่กระทบผู้มีรายได้น้อย


กระทรวงการคลังยัน ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไร้ผลกระทบประชาชน-เกษตรกร แย้มผ่านสนช.วาระ 2-3 กลางเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดบังคับใช้ได้ปี 2563 

 
  
นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และในฐานะกรรมมาธิการ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า คาดว่าจะเสนอร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในวาระ 2 และ วาระ 3 ได้ภายในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ และคาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 จากเดิมที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562  
   
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนรายย่อย เนื่องจากได้จัดแยกประเภทภาษีไว้ชัดเจน เช่น  หากประชาชนอาศัยอาคารพาณิชย์  3 ชั้น ใช้ประกอบการธุรกิจและ อยู่อาศัย จะจัดเก็บตามประเภทอยู่อาศัย  หวังว่าจะนำที่ดินมาใช้ประโยชน์มากขึ้น และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.  จะนำเงินมาใช้พัฒนาท้องถิ่นได้   
   
ขณะที่ในกลุ่มเกษตรกร จะได้รับการยกเว้น หรือจะมีการจัดเก็บในอัตราที่ต่ำมาก จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ   ซึ่งร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯใหม่ จะสะท้อนมูลค่าที่ดินในปัจจุบันต่างจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ใช้อยู่ เพราะบางเรื่องเปิดทางให้ใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ทำให้ข้อมูลไม่ตรง แม้ที่ดินติดกัน แต่จัดเก็บภาษีต่างกัน  เสียภาษีแพง ถูกต่างกัน   
   
สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษียังแบ่งเป็น 4 ประเภท  คือ  เกษตรกรรม สำหรับบุคคลธรรมดา ได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทแรก แต่หากราคาเกิน 50 ล้านบาท  จะจัดเก็บ 100 บาทต่อราคาที่ดิน 1 ล้านบาท  โดยจัดเก็บแบบบขั้นบันได แต่จะยกเว้นให้ 3 ปีแรก  ส่วนที่ดินของเกษตรกรรมมรายใหญ่ จัดเก็บตั้งแต่บาทแรก  
   
ส่วนกรณีบ้านหลังแรกที่มูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาทจะได้รับการยกเว้น  รวมทั้งผ่อนเกณฑ์การจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินประเภทรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์  ปรับแก้เป็นอัตราภาษีร้อยละ 0.2-0.3 เพดานสูงสุด ร้อยละ 3  โดยปรับขึ้นภาษีทุก ๆ 3 ปี  หากภายใน 27 ปี ยังปล่อยทิ้งไว้ จะจัดเก็บภาษีเต็มเพดาน 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 พ.ย. 2561 เวลา : 10:32:48
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 4:34 am