บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อส่งต่อคุณค่าสู่ภาคเศรษฐกิจ การเงิน และสังคมไทย ล่าสุดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาและองค์กรชั้นนำของประเทศ ร่วมให้การสนับสนุน พร้อมเปิดตัว “B.VER (Blockchain Solution for Academic Document Verification)” แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการตรวจสอบเอกสารทางการศึกษาด้วยเทคโนโลยี Blockchain ที่ให้สถาบันการศึกษา หรือองค์กรต่างๆ สามารถตรวจสอบวุฒิการศึกษา หรือ Transcript ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้แบบเรียลไทม์ครั้งแรกของประเทศไทย ช่วยป้องกันปัญหาการปลอมแปลงวุฒิการศึกษาที่สร้างความเสียหายต่อรากฐานทางสังคมและเศรษฐกิจของไทยอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมผลักดันให้ B.VER เป็นแพลตฟอร์มกลางที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงการใช้งานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า การดำเนินงานตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาของดิจิทัล เวนเจอร์ส บริษัทมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีและสรรหานวัตกรรมเพื่อนำมาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้กับภาคธุรกิจและสังคมของไทย ในวันนี้นับเป็นก้าวสำคัญของดิจิทัล เวนเจอร์ส ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงและร่วมเป็นทางออกให้กับปัญหาสังคม ในเรื่องการปลอมแปลงวุฒิการศึกษาที่มีมายาวนาน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการประยุกต์เทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Blockchain มาพัฒนาเป็น แพลตฟอร์ม “B.VER (Blockchain Solution for Academic Document Verification)” แพลตฟอร์มดิจิทัลแรกในไทยสำหรับการตรวจสอบวุฒิการศึกษา โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงองค์กรภาคธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งนอกเหนือจากหน่วยงานต่างๆ แล้ว ดิจิทัล เวนเจอร์ส ยังมีเป้าหมายให้ B.VER เป็นแพลตฟอร์มกลางที่เปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานของประเทศสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในวงกว้างได้ และในอนาคตเราได้วางแผนพัฒนาต่อยอดจากแพลตฟอร์มนี้ ให้สามารถเป็นช่องทางในการแนะนำงานที่เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้สมัครงานและองค์กรไปพร้อมกันได้ โดยใช้เทคโนโลยี Big Data และ Artificial Intelligence ในการจัดการข้อมูลและประมวลผล
นาย จีรพล มัทวพันธุ์ Head of Project Delivery บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า การนำ Blockchain มาประยุกต์ใช้ในแพลตฟอร์ม B.VER ครั้งนี้ ได้เลือกแพลตฟอร์ม Ethereum ซึ่งเป็น Public Blockchain มีคุณสมบัติในการเก็บข้อมูลสำคัญอย่างถาวรในลักษณะกระจายข้อมูล (Decentralized Ledger of Information) โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบได้เท่านั้นแต่ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ นอกจากนี้ในปัจจุบัน Ethereum มีการสร้าง Node มากกว่า 25,000 Nodes จากทั่วโลก ซึ่งหมายถึงศักยภาพด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ Ethereum เหมาะสมกับการนำมาพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการเก็บและตรวจสอบข้อมูลสำคัญนี้
ขั้นตอนการทำงานของ B.VER ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือการอัพโหลดไฟล์ต้นฉบับขึ้นสู่แพลตฟอร์มโดยมหาวิทยาลัย จากนั้นระบบจะดำเนินการเข้ารหัสและเก็บเอกสารไว้ใน Blockchain ในรูปแบบที่เรียกว่า Fingerprint ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกันในแต่ละเอกสาร เปรียบเสมือนลายนิ้วมือที่ไม่ซ้ำกันของคน ในขณะเดียวกัน เมื่อองค์กรต่างๆ ต้องการตรวจสอบ สามารถทำได้ทันทีด้วยการอัพโหลดเอกสารที่ต้องการตรวจสอบเข้าสู่แพลตฟอร์ม จากนั้นระบบจะเข้ารหัสเอกสารนั้นในรูปแบบ Fingerprint เช่นกัน เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับ Fingerprint ของเอกสารต้นฉบับที่ถูกเก็บไว้ใน Blockchain ว่าเหมือนกันหรือไม่ ซึ่งสามารถแสดงผลการตรวจสอบได้ทันที หาก Fingerprint ตรงกันแสดงว่าเอกสารนั้นถูกต้อง แต่หากไม่ตรงกัน แสดงว่าเอกสารที่นำมาตรวจสอบนั้นเป็นเอกสารปลอม ทั้งนี้ การเก็บและการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลด้วยเทคโนโลยี Blockchain นี้ ทำให้ผู้ใช้งานมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและความถูกต้องแม่นยำในการตรวจสอบ นอกจากนี้ ในอนาคตนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ยังสามารถขอเอกสารทางการศึกษาจากสถาบันต้นสังกัด หรือส่งต่อเอกสารให้กับผู้ว่าจ้างผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้โดยตรงอีกด้วย
ด้วยกระบวนการทั้งหมดบนแพลตฟอร์ม B.VER นี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากสำรวจพบว่าในแต่ละปีมหาวิทยาลัยต่างๆ จะได้รับคำขอ Transcript ย้อนหลังจากศิษย์เก่าที่อาจทำเอกสารสูญหาย หรือต้องการเอกสารตัวจริงหลายฉบับเพื่อนำไปสมัครงานหลายแห่ง ในขณะเดียวกัน องค์กรธุรกิจก็จำเป็นต้องยื่นคำขอกับแต่ละมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของผู้สมัครงาน เพื่อให้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทางการศึกษาของผู้สมัครงานเป็นจำนวนมาก โดยในขั้นตอนต่างๆ นั้นต้องใช้ทั้งบุคลากรและเวลาในการดำเนินการเป็นอย่างมาก ล้วนเป็นภาระที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ในขณะที่แพลตฟอร์ม B.VER สามารถเข้ามาช่วยลดภาระให้กับทุกฝ่าย อาทิ การยืนยันเอกสารของมหาวิทยาลัย เพราะองค์กรสามารถตรวจสอบเอกสารโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มได้ทันที นอกจากนี้ แพลตฟอร์ม B.VER ยังเปิด API ไว้ให้แต่ละองค์กรสามารถเชื่อมต่อให้สามารถใช้งาน B.VER ร่วมกับระบบ HR เดิมที่มีอยู่ได้ แพลตฟอร์ม B.VER จะเปิดให้บริการตรวจสอบเอกสารได้ตั้งแต่ มกราคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งในระหว่างนี้ทางมหาวิทยาลัยต่างๆ จะทยอยอัพโหลด Transcript ของปีการศึกษา 2560 ไว้บนแพลตฟอร์มเพื่อเตรียมพร้อมในการให้บริการ
“การพัฒนา B.VER ในครั้งนี้นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับแวดวงการศึกษาและแรงงานของไทย จากก่อนหน้านี้ที่สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาการปลอมแปลงวุฒิการศึกษาที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากบุคคลในทุกวงการ สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา ด้านการจัดการทรัพยากรบุคคลขององค์กรธุรกิจรวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างประเมินมูลค่าไม่ได้ ซึ่งเราเชื่อว่าระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้องแม่นยำ ประกอบกับรูปแบบการใช้งานที่สะดวกนี้ จะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการปลอมแปลงเอกสารทางการศึกษาให้ลดน้อยลงไปได้”
ข่าวเด่น