สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi (Eastern Economic Corridor of Innovation) ประกอบด้วย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศใน EECi, อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้) เพื่อเชื่อมโยงการวิจัยพัฒนาและการลงทุนฐานนวัตกรรมระหว่าง EECi กับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค, มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล และบริษัทไทยแอลกอฮอล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนการพัฒนา EECi
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการวิจัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพของภูมิภาคนี้ ซึ่งพื้นที่ EECi เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา และได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรและร่วมมือกันในการพัฒนาและใช้ประโยชน์ของพื้นที่ EECi บริเวณวังจันทร์วัลเลย์ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย
สวทช. กับ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) โดยให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยองค์ความรู้ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ (UAV) รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมในทุกภาคส่วน สนับสนุนข้อมูลและองค์ความรู้ ตลอดจนบุคลากรและทรัพยากร พัฒนามาตรฐาน เช่น การจัดการพื้นที่จราจรทางอากาศ การสนับสนุนการใช้ดาวเทียมระบุตำแหน่งกับห้วงอากาศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมรองรับกิจกรรมวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของทุกภาคส่วน ร่วมกันพิจารณาให้พื้นที่ EECi เป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการทดสอบทดลองใช้ (Regulatory Sandbox) และร่วมกันดำเนินการให้มีการวิจัย พัฒนา ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ (UAV) รวมไปถึงการพัฒนามาตรฐานด้านความปลอดภัยของอากาศยานไร้คนขับ (UAV) และปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมของเอกชนทางด้านการบิน อวกาศ และอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ด้วยกลไกสนับสนุนผู้ประกอบการที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่และจะร่วมกันพัฒนาขึ้นในอนาคต
สวทช. และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้) สนับสนุนเชื่อมโยงการวิจัยพัฒนาและการลงทุนฐานนวัตกรรมระหว่างเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนแนวคิด Hub of the Hubs โดยจะมีการเชื่อมโยงการวิจัยพัฒนาและการลงทุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้) ไปสู่การขยายผลที่ EECi ร่วมกันกระตุ้นให้เกิดการลงทุนวิจัยพัฒนาของหน่วยงานเอกชน หน่วยงานรัฐ สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ ร่วมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านการวิจัยและพัฒนาและการลงทุนฐานนวัตกรรมใน EECi โดยสามารถดำเนินการได้ทันทีในอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้) ระหว่างที่มีการก่อสร้างพื้นที่รองรับการลงทุนนวัตกรรมใน EECi ยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการลงทุน และเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์และเขตนวัตกรรม อีกทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์และการตลาด เพื่อดึงดูดนักลงทุนฐานนวัตกรรมเข้ามาสู่ EECi และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้)
สวทช. และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ให้ความสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สนับสนุนข้อมูลและองค์ความรู้ ตลอดจนบุคลากรและทรัพยากรอื่นใดตามสมควรและเหมาะสม เพื่อให้การพัฒนานโยบายและการวางแผนขับเคลื่อนการพัฒนา EECi ดำเนินกิจกรรมวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมร่วมกันและหน่วยงานอื่น รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งจากภายในและต่างประเทศ พร้อมทั้งให้บริการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมวิจัยพัฒนานวัตกรรม พัฒนากำลังคน และโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. เพื่อรองรับกิจกรรมวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ EECi, EEC และพื้นที่อื่น ๆ
สวทช. และบริษัทไทยแอลกอฮอล์ จำกัด (มหาชน) การสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และการยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ซึ่งให้ความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่พัฒนาขึ้นใน EECi พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ในการเพิ่มมูลค่าของชีวมวลหรือวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร โดยผ่านกระบวนการ “Biorefinery” เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงร่วมกันรวมถึงหน่วยงานอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การรับและถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสนับสนุนข้อมูลองค์ความรู้ รวมถึงร่วมศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การกำหนดทิศทางการวิจัย การกำหนดกระบวนการ กฎเกณฑ์ รูปแบบในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ
ความร่วมมือในการพัฒนาครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคเอกชนในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ EECi ต่อไป
ข่าวเด่น