นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า “ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Startup (SSI) ประจำไตรมาส 3 ปี 2561 ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ Startup ทั่วประเทศจำนวน 430 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีSSI ประจำไตรมาส 3 ปี 2561ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ระดับ 61.55ซึ่งสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการ Startup มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉพาะจากปัจจัยด้านการลงทุน ด้านผลประกอบการปริมาณการผลิตคำสั่งซื้อและการจ้างงานที่อยู่ในระดับดีโดยมีเหตุผลสำคัญมาจากการดำเนินมาตรการของภาครัฐ อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง ในภูมิภาคมีเงินหมุนเวียนมากขึ้นและนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเชื่อมโยง ประกอบกับการเร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการกำหนดวันเลือกตั้งอย่างชัดเจนส่งผลเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนของค่าแรง ค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าขนส่งที่ยังอยู่ในระดับสูง
สำหรับดัชนีSSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้าผู้ประกอบการ Startup มีมุมมองต่อภาวะธุรกิจในภาพรวมดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 70.35โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากคำสั่งซื้อปริมาณการผลิตและผลประกอบการที่คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในธุรกิจเทคโนโลยี ท่องเที่ยว ขนส่งและโลจิสติกส์ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยวเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยว (High season) ที่มีทั้งเทศกาลเฉลิมฉลองและมีวันหยุดยาว ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain)อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังคาดการณ์ว่าต้นทุนการประกอบการยังไม่น่าจะลดลงจากปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาในแต่ละภาคธุรกิจได้แก่ อุตสาหกรรม การเกษตร การค้าและบริการพบว่าผู้ประกอบการStartup ยังมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี(สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50)โดยดัชนี SSI ในภาคบริการอยู่ที่ระดับ 66.67เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนและมีค่าดัชนีสูงที่สุดในทุกภาคธุรกิจขณะที่ดัชนีธุรกิจอื่นๆอยู่ระดับ 58.40-57.60อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการStartupยังคงมีข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะปัญหาจากสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลทำให้ผลผลิตลดลงรวมทั้งประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่ายอีกทั้งปัญหาการขาดสภาพคล่องการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและคู่แข่งขันรวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือและมีทักษะเฉพาะทาง
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยฯ มองว่ายังมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังติดตามคือปัจจัยทางด้านต้นทุนของผู้ประกอบการStartupที่สูงขึ้นทั้งค่าจ้างแรงงานผู้มีทักษะเฉพาะทางค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าขนส่งอีกทั้งยังมีอุปสรรคที่รอการแก้ไขในด้านกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้สั่งซื้อ
นอกจากนี้ผู้ประกอบการStartupยังคงต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนในด้านเงินทุนโดยมีเงื่อนไขการกู้ยืมที่ยืดหยุ่นและมีการผ่อนปรนการชำระหนี้เมื่อประสบปัญหา รวมถึงการร่วมลงทุนเพื่อขยายธุรกิจและลงทุนเพิ่มเติมในด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์อีกทั้งสนับสนุนด้านการหาตลาดและเพิ่มความรู้ด้านการลงทุน การขยายธุรกิจ ภาษี ตลอดจนด้านเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น”นายชาติชายฯ กล่าว
ข่าวเด่น