หุ้นทอง
ก.ล.ต.กระตุ้นนักลงทุนเติมภูมิคุ้มกันในงาน SET in the City 2018


ข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือโลกออนไลน์ เกี่ยวกับข่าวผู้ลงทุนที่หลงกลถูกมิจฉาชีพหลอกให้ร่วมลงทุน และข่าวการลงโทษผู้กระทำผิดฐานหลอกลวงนักลงทุน สะท้อนว่าผู้ลงทุนไทย ควรต้องตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันในการลงทุนให้ตัวเอง เพื่อป้องกันการตกเป็น “เหยื่อ” หรือเป็นผู้เสียหายของกลโกงในตลาดทุน


ซึ่ง “ภูมิคุ้มกัน” ที่ว่า ผู้ลงทุนทั่วไป สามารถสร้างขึ้นมาด้วยตนเอง โดยมีแนวทางในการประเมินตัวเองในขั้นต้นแบบง่ายๆ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ!

“รพี สุจริตกุล” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เน้นย้ำว่า “ภูมิคุ้มกัน” ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวผู้ลงทุนเอง ที่ต้องรู้ใจตัวเองก่อนจะตัดสินใจเข้าไปลงทุน เพราะการ “รู้ใจตัวเอง รู้จักตัวเอง” จะเป็นเกราะป้องกันด่านแรก ไม่ให้หลงไปลงทุนอะไรที่ผิด จนเกิดความเสียหายในที่สุด

การ “รู้ใจตัวเอง รู้จักตัวเอง” ก็คือรู้ว่าสินทรัพย์ที่จะเข้าไปลงทุนนั้น เหมาะกับตัวผู้ลงทุนเองหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ลงทุนหน้าใหม่ ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่ไม่รู้จักตัวเอง แต่จะฟังและเชื่อข้อมูลจากเพื่อน คนรู้จัก ญาติมิตร ทั้งๆ ที่เราไม่รู้เลยว่าคนเหล่านี้ เขาเป็นคนที่มีความรู้เรื่องการลงทุนจริงหรือไม่

ต่างจากผู้ให้บริการด้านการลงทุน ที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายจาก ก.ล.ต. ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่า ผู้ประกอบการเหล่านี้ ได้มาตรฐานในการประกอบธุรกิจ ทั้งในเรื่องการเก็บรักษาทรัพย์สิน การทำความรู้จักลูกค้า การดูแลพอร์ตลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของลูกค้า โดยประเด็นเหล่านี้ ปัจจุบัน ก.ล.ต. ทำหน้าที่ดูแลอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในการป้องกันตนเองเพื่อให้ปลอดภัยจากการถูกหลอกให้ลงทุน ก็มีวิธีเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนสามารถประเมินได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง 2 ข้อ

อันดับแรกคือ “ประเมินคน” บุคคลหรือผู้ชักชวนนั้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่? กลโกงเหล่านี้ มักจะใช้คนที่ดูน่าเชื่อถือมาชักชวนเพื่อทำให้เราหลงกลได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ตัวผู้ลงทุนเอง จึงต้องตรวจสอบด้วยว่า คนคนนั้น อยู่ในวงการจริงหรือไม่? หรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่?

อันดับที่สองคือ “ประเมินความเป็นไปได้” เวลามีข้อเสนอที่สัญญาหรือการันตีว่า เงินต้นอยู่ครบแน่นอน หรือได้รับผลตอบแทนแน่นอน รวมทั้งเสนอผลตอบแทนที่สูงเกินจริง ซึ่งหากมีใครมาพูดแบบนี้ ให้นักลงทุนสงสัยไว้ก่อนว่า มีความเสี่ยงถูกโกงแน่นอน เพราะการลงทุนทุกรูปแบบ ไม่มีทางการันตีสิ่งเหล่านี้ได้

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากทั้ง 2 ข้อแล้ว ยังไม่มั่นใจว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่ ก็สามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้จากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยตรง เพราะในอีกด้านหนึ่ง ก.ล.ต. ก็ทำหน้าที่ในการปกป้องผู้ลงทุนคู่ขนานกันไปอยู่แล้ว ด้วยการออกข่าวเตือน หากพบผู้ประกอบการหรือบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ เพื่อแจ้งให้ผู้ลงทุนเพิ่มความระมัดระวังจากการที่ถูกชักชวนและใช้วิจารณญาณก่อนตัดสินใจลงทุนให้มากขึ้น

ปัจจุบัน บทบาทของ ก.ล.ต. ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงปกป้องหรือคอยเติมภูมิคุ้มกันให้ผู้ลงทุนเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ลงทุน ให้สามารถใช้ตลาดทุนไทยเป็นแหล่งลงทุน เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว

เลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า ตลาดทุนไทย เป็นหนึ่งในตลาดที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ ที่สำคัญ ยังเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องสูง สามารถซื้อขายได้ตลอดเวลา แต่จากข้อมูลกลับพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ ไม่เอาเงินมาลงทุนหรือใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ไม่เต็มศักยภาพ สะท้อนจากจำนวนบัญชีผู้ลงทุนทั้งที่เปิดบัญชีกับโบรกเกอร์และเปิดบัญชีกองทุนรวมที่มีอยู่เพียง 3 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่มีประชากรสูงกว่า 60 ล้านคน

และหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไทย ไม่เข้ามาลงทุนในตลาดทุน ก็คือ ประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการลงทุน เช่น ลงทุนผิดจังหวะแล้วขาดทุน ทำให้ไม่กล้ากลับมาลงทุนอีก หรือถ้าไม่ขาดทุน ก็รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ไม่มีคนคอยติดตามดูแลหรือให้คำแนะนำที่จะเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น

ประกอบกับเจ้าหน้าที่หรือผู้ขายผลิตภัณฑ์การลงทุนส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้มาดูว่า ผู้ลงทุนควรจะมีสินทรัพย์ประเภทไหนอยู่ในพอร์ตบ้าง บางครั้งขายสินค้าเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเกินความจำเป็น  ซึ่งไม่ตอบโจทย์การกระจายความเสี่ยง และทำให้ขาดความสมดุลระหว่างพอร์ตลงทุนระยะสั้นและระยะยาว

ปัญหาเหล่านี้ ถือเป็น “Pain Point” ใหญ่ของนักลงทุนไทย ที่ทำให้สุดท้ายแล้ว ไม่สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม คิดโครงการ "5 ขั้นมั่นใจลงทุน" ขึ้นมา เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ลงทุน ว่าจะได้รับการดูแลอย่างครบวงจรตลอดการลงทุน

หัวใจหลักของโครงการ "5 ขั้นมั่นใจลงทุน" คือ ผู้ลงทุนทุกคน จะได้รับการปฏิบัติเหมือนกันตั้งแต่เริ่มต้นลงทุน ไปจนถึงบริการหลังการลงทุน ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอนสำคัญ คือ
1. การวิเคราะห์ความต้องการ
2. การกำหนดสัดส่วนเงินลงทุน
3. การเลือกลงทุนตามเป้าหมาย
4. การติดตามและปรับกลยุทธ์
5. การรายงานภาพรวมการลงทุนของลูกค้า

น่ายินดีว่า ปัจจุบัน มีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับความเห็นชอบและสามารถให้บริการแนะนำการลงทุนภายใต้โครงการ "5 ขั้นมั่นใจลงทุน" จากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว  26 ราย และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกตามลำดับ ซึ่งทั้ง 26 ราย จะมีแพลตฟอร์มการลงทุนที่แตกต่างกันไป แต่อยู่ภายใต้มาตรฐานตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ตั้งแต่เงินลงทุนขั้นต่ำ ที่สามารถเริ่มต้นลงทุนได้ด้วยเงินหลักพันบาท หรือการนำเอาเทคโนโลยี มาอำนวยความสะดวกผู้ลงทุนและมีที่ปรึกษาการลงทุนที่คอยทำหน้าที่ปรับพอร์ตให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับตัวเองได้

และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนไทย ได้ยกระดับตัวเองให้เป็นผู้ลงทุนคุณภาพ โดยมีทั้งภูมิคุ้มกัน และมั่นใจที่จะลงทุน ก.ล.ต. จึงขอเชิญผู้สนใจมาร่วมงาน SET in the City 2018 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18  พฤศจิกายน 2561 ณ พารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

โดยภายในบูธของ ก.ล.ต. จะมีโปรแกรมทดสอบภูมิคุ้มกันของตนเอง รวมทั้งความรู้ในเรื่องสินทรัพย์การลงทุน ผู้เยี่ยมชมบูธยังจะได้ทำความรู้จักบริการรูปแบบใหม่ของคำแนะนำการลงทุนแบบครบวงจรที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะมีเงินน้อยหรือมาก ภายใต้โครงการ "5 ขั้นมั่นใจลงทุน" เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวอีกด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 พ.ย. 2561 เวลา : 15:43:13
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 5:43 am