เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สนธิรัตน์ ย้ำ "ไม้ยืนต้น" เป็นหลักประกันทางธุรกิจและเป็นทรัพย์สิน


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 พฤศจิกายน  ตนได้ลงพื้นที่ไปดูธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ ซึ่งเป็นชุมชนที่เป็นธนาคารต้นไม้แห่งแรกของประเทศไทย ใน จ.ขอนแก่น เพื่อสร้างการรับรู้และชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ หลังจากที่กฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้แนะนำให้เกษตรกร ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตัวเอง เพราะในอนาคตจะสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้


“เมื่อก่อนไม้ยืนต้นที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ จะไม่ได้รับการประเมินในการให้สินเชื่อ จะประเมินเฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินเท่านั้น แต่หลังจากที่กฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ทำให้สถาบันการเงินสามารถเพิ่มประเภททรัพย์สินในการให้สินเชื่อมากขึ้น ส่งผลดีทั้งต่อสถาบันการเงิน เกษตรกรและประชาชนที่ต้องการใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อโดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน” นายสนธิรัตน์กล่าว

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรและคนในชุมชนรวมกลุ่มกันสร้าง “ชุมชนไม้มีค่า” ตามแนวนโยบายประชารัฐและไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชน และยังช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นแหล่งออกซิเจนให้แก่ประเทศ ลดภาวะก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัญหาระดับโลก โดยรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้เกิดชุมชนไม้มีค่า จำนวน20,000ชุมชน ภายใน10ปี ส่งเสริมและขยายผลให้ประชาชน2.6ล้านครัวเรือนปลูกต้นไม้รวมทั้งสิ้นจำนวน1,000ล้านต้น ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น26ล้านไร่เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ย1ล้านล้านบาทต่อปี
          
ขณะเดียวกันได้เตรียมพัฒนาพื้นที่ปลูกป่าทั่วประเทศให้เป็นแหล่ง “คาร์บอนเครดิต” (CarbonCredit) ของโลกเพื่อการซื้อขายในอนาคต โดยคาร์บอนเครดิตเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่สามารถตีราคาเป็นเงินและสามารถซื้อขายกันได้ในตลาดเฉพาะที่เรียกว่าตลาดคาร์บอน โดยในปัจจุบันยังไม่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทย แต่ในอนาคตคาดว่าจะเป็นสินค้าที่มีความสำคัญและมีการซื้อขายกันมากยิ่งขึ้น เพื่อทดแทนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์)ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมหรือจากการคมนาคม

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า คาร์บอนเครดิตหมายถึง ก๊าซที่เป็นตัวทำให้ปฏิกิริยาเรือนกระจกต่างๆ ที่แต่ละโรงงานสามารถลดได้ จะถูกตีราคาเป็นเงิน ก่อนจะถูกขายเป็นเครดิตไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต (KyotoProtocal)ที่กำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้ว (Annex1)ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก (GreenHouseEffect)ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ “โลกร้อน” ในหลายแนวทางหนึ่งในนั้นคือ“การซื้อขายมลพิษ”หรือคาร์บอนเครดิตกับประเทศที่กำลังพัฒนา(Non-Annex1)เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วไม่สามารถลดก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกลงได้ ดังนั้น การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจึงเปรียบเสมือนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโลกร่วมกันของผู้ประกอบการจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 พ.ย. 2561 เวลา : 20:20:40
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 6:42 am