กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เผยจากสถิติของกรมศุลกากรเวียดนาม ในช่วงมกราคม – กันยายน 2018 เวียดนามนำเข้ารถยนต์จากไทย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี โดยไทยและอินโดนีเซียเป็นแหล่งนำเข้ารถยนต์หลักของเวียดนามด้วยนำเข้ารถยนต์ 10,800 คัน หรือร้อยละ 92 ของการนำเข้ารถยนต์ทั้งหมดของเวียดนาม แนะผู้ส่งออกรถยนต์ ชิ้นส่วน อุปกรณ์ ส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ซ่อมบำรุงรถยนต์บุกตลาดเวียดนาม มั่นใจทำเงินได้มากแน่
นางสุภาพร สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ เปิดเผยว่ากรมศุลกากรเวียดนามประกาศว่า ชิ้นส่วน อุปกรณ์ และส่วนประกอบรถยนต์ที่นำเข้าส่วนใหญ่ เป็นเครื่องยนต์ คัสซี (chassis) และเทคโนโลยีพิเศษที่ไม่สามารถผลิตในเวียดนามได้ เว้นแต่ผู้ผลิตลงทุน ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ในเวียดนาม โดยบริษัท Toyota, Ford และ Nissan นำเข้าสายไฟฟ้าและเหล็กจากไทย อินเดีย และอินโดนีเซีย เพื่อผลิตรถยนต์ในเวียดนาม
ในช่วงมกราคม – กันยายน 2018 เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 11,172 คัน เพิ่มขึ้น 5,142 คัน หรือร้อยละ 85.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2017 เวียดนามนำเข้ารถยนต์ไม่เกิน 9 ที่นั่งส่วนใหญ่จากอาเซียน (ร้อยละ 93.5 ของการนำเข้ารถยนต์ทั้งหมด) ซึ่งมากกว่าร้อยละ 51 นำเข้าผ่านท่าเรือในนครโฮจิมินห์ และได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีนำเข้าตามความตกลงการค้าเสรีของอาเซียน (ATIGA)
คาดว่า ในช่วงสิ้นปี 2018 รถยนต์ที่จะเข้ามาในตลาดเวียดนามมากขึ้น ได้แก่ รุ่น Xpander ของบริษัท Mitsubishi รุ่น BT 50 ของบริษัท Mazda รุ่น Everest ของบริษัท Ford รุ่น Wigo ของบริษัท Toyota และรุ่น HR-V ของบริษัท Honda นอกจากนี้ ในช่วงมกราคม – กันยายน 2018 ผู้ประกอบการเวียดนามยังนำเข้าชิ้นส่วน อุปกรณ์ และส่วนประกอบรถยนต์ 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่านำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากญี่ปุ่นซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์อันดับ 1 ของเวียดนาม คือ 591 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ เกาหลีใต้ 560 ล้านเหรียญสหรัฐ และจีน 465 ล้านเหรียญสหรัฐ
นางสุภาพร กล่าวว่า ในปัจจุบันความต้องการรถยนต์ในเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประชากร ในเวียดนามมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงผู้บริโภคในเวียดนามส่วนใหญ่มั่นใจ ในคุณภาพของรถยนต์ที่ผลิตในไทย จึงเป็นโอกาสให้ผู้ส่งออกรถยนต์ โรงงานผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์ ส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ซ่อมบำรุงรถยนต์ที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณาหาช่องทางโอกาสในการลงทุน เพื่อขยายฐานการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวในเวียดนาม โดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านแรงงานที่มีมากและราคาถูกกว่าไทย รวมถึง FTA ต่าง ๆ ที่เป็นตลาดรองรับการส่งออกด้วย
นอกจากนี้อู่ซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อาจพิจารณาเปิดธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจซ่อมบำรุงรถยนต์ในเวียดนาม ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือ โทรสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169
ข่าวเด่น